สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า "ติ๊กต๊อกชอป" (TikTok Shop) ของแอปพลิเคชันติ๊กต๊อก (TikTok) กำลังกลายมาเป็นภัยคุกคามสำคัญสำหรับบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ช้อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) โดยติ๊กต๊อกเป็นบริษัทในเครือไบต์แดนซ์ (ByteDance) จากจีน
ทั้งนี้ ไบต์แดนซ์พยายามนำติ๊กต๊อกเจาะตลาดต่าง ๆ นอกสหรัฐและอินเดีย เพื่อสร้างทางเลือกด้านรายได้ ซึ่งเสี่ยงส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน
ติ๊กต๊อกชอปเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซบนติ๊กต๊อกที่จะทำให้พ่อค้าแม่ค้า แบรนด์ และครีเอเตอร์สามารถแสดงหรือขายสินค้าให้กับผู้ใช้งานได้
ในปี 2565 ติ๊กต๊อกชอปได้ขยายธุรกิจไปยัง 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย
"ติ๊กต๊อกเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเราประมาณการว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์รวมในปี 2566 ของติ๊กต๊อกจะแตะ 20% ของช้อปปี้ โดยเราได้แนะนำให้ช้อปปี้เพิ่มยอดขายและการตลาดนับตั้งแต่เดือนเม.ย." นายชอว์น หยาง นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยบลูโลตัสระบุในรายงานของบริษัทซี กรุ๊ป (Sea Group) ซึ่งเป็นเจ้าของช้อปปี้
อย่างไรก็ตาม ติ๊กต๊อกปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นหรือเปิดเผยข้อมูล
ดิ อินฟอร์เมชัน (The Information) ซึ่งเป็นสำนักข่าวด้านเทคโนโลยีรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลภายในว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์รวมของติ๊กต๊อกชอปพุ่งขึ้นกว่า 4 เท่าตัวแตะที่ 4.4 พันล้านดอลลาร์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2565 และมีรายงานว่าติ๊กต๊อกชอปตั้งเป้ายอดขายสินค้าออนไลน์รวมไว้ที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2566
อย่างไรก็ตาม ยอดขายสินค้าออนไลน์รวมในปัจจุบันของติ๊กต๊อกชอปนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช้อปปี้และลาซาด้า
จากข้อมูลที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนระบุว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์รวมของช้อปปี้อยู่ที่ 7.35 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565 ขณะที่ ยอดขายสินค้าออนไลน์รวมของลาซาด้าอยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ระหว่างเดือนก.ย. 2563 ถึงเดือนก.ย. 2564
โฆษกของติ๊กต๊อกให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ติ๊กต๊อกชอปยังคงมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ใช้งานรายใหญ่และรายย่อยต่างใช้ติ๊กต๊อกในการหาลูกค้ารายใหญ่ โดยติ๊กต๊อกกำลังพุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาติ๊กต๊อกชอปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อินไซเดอร์ อินเทลลิเจนซ์ (Insider Intelligence) บริษัทวิจัยตลาดระบุว่า ตัวเลขผู้ใช้งานติ๊กต๊อกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 135 ล้านราย ณ เดือนพ.ค.
ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า อินโดนีเซียมีผู้ใช้งานติ๊กต๊อกมากเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐ
ผลสำรวจที่จัดทำโดยบริษัทคิวบ์ เอเชีย (Cube Asia) ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ เปิดเผยว่า ผู้บริโภคที่ใช้ติ๊กต๊อกชอปลดการใช้จ่ายบนช้อปปี้ลง 51%, ลาซาด้า 45% และร้านค้าออฟไลน์ 38% ในอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์