เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหภาพยุโรป (EU) แนะอังกฤษควรเข้าร่วมในข้อตกลงการค้าขายสินค้าทั่วยุโรป เพื่อจำกัดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถยนต์ของอังกฤษ ผลจากภาษีศุลกากรหลังการเบร็กซิต (Brexit) แทนที่จะแสวงหาแนวทางในการชะลอการเก็บภาษี
นับตั้งแต่เดือนม.ค. 2567 เป็นต้นไป รถยนต์ไฟฟ้าที่จัดส่งระหว่างอังกฤษและ EU จำเป็นต้องมีชิ้นส่วนประกอบรถยนต์อย่างน้อย 45% ที่มาจากทั้งสองภูมิภาค มิเช่นนั้นจะถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากร 10% ภายใต้ "กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ถูกกำหนดไว้ในข้อตกลงการค้าภายหลังการเบร็กซิต
ขณะที่เกณฑ์ข้อจำกัดดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 60% สำหรับแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของมูลค่าของรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นปัญหาอย่างยิ่ง เนื่องจากอังกฤษและ EU ยังคงนำเข้าแบตเตอรี่จำนวนมากจากจีน เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น
ทั้งนี้ อังกฤษต้องการให้ EU ชะลอการเก็บภาษีจนถึงปี 2570 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งในอังกฤษและ EU ซึ่งได้ออกมาเตือนว่าพวกเขาไม่อาจปฏิบัติตาม "กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า" ได้ทัน ภายในเดือนม.ค.ปีหน้า เนื่องจากขีดความสามารถในการผลิตแบตเตอรี่ในยุโรปไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาวุโสของ EU 2 คน ระบุว่า พวกเขาสนับสนุนให้อังกฤษลงนามในข้อตกลงที่มีอยู่แล้วในกลุ่มประเทศยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ อีกกว่า 20 ประเทศ ซึ่งถือว่าสินค้าที่ประกอบในประเทศหนึ่ง จากชิ้นส่วนที่ผลิตในอีกประเทศหนึ่ง ถือว่ามาจากประเทศที่ส่งออก ดังนั้นประเทศผู้ส่งออกจึงสามารถหลีกเลี่ยงภาษีและโควตาต่าง ๆ ได้
เจ้าหน้าที่ระบุว่า "วิธีการง่าย ๆ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ อังกฤษเข้าร่วมในอนุสัญญาแพน-ยูโร-เมดิเตอร์เรเนียน (Pan-Euro-Mediterranean convention หรือ PEM)" โดยอ้างถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้านกฎระเบียบการค้า ซึ่งอังกฤษไม่ได้เข้าร่วมใน PEM หลังถอนตัวออกจาก EU