อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกดีดตัวขึ้นในวันนี้ (8 มิ.ย.) หลังจากมีกระแสคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.และเดือนก.ค. ตามทิศทางธนาคารกลางแคนาดาและออสเตรเลียที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวานนี้ อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.ของเฟดอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้
นักลงทุนให้น้ำหนัก 30% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 21.8% นอกจากนี้ นักลงทุนยังให้น้ำหนัก 51.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมเดือนก.ค.
ธนาคารกลางแคนาดาประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 4.75% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีในการประชุมเมื่อวันพุธ (7 มิ.ย.) เนื่องจากธนาคารกลางมีความกังวลว่า อัตราเงินเฟ้ออาจจะเคลื่อนไหวเหนือระดับเป้าหมายที่ 2% เป็นเวลานาน ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ขยายตัวแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศขึ้นประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.10% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 3.85%
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารทั้ง 2 แห่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเอเชียพุ่งขึ้นในวันนี้ โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของออสเตรเลียที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า กระแสคาดการณ์เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีขึ้นก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพ.ค.ในวันอังคารที่ 13 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมเฟดในรอบนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ทั่วไปและดัชนี CPI พื้นฐานจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด
แมริลีน วัตสัน นักวิเคราะห์จากบริษัทแบล็กร็อกกล่าวว่า "สัปดาห์หน้าจะเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนจับตาดัชนี CPI ของสหรัฐอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด ในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการเฟดอาจเลือกที่จะระงับการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เฟดไม่มีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป"