หัวหน้าสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนชี้ อาเซียนติดหล่มสงครามเย็นทางเศรษฐกิจจากแรงต้านจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 9, 2023 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาร์ชาด ราชิด ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเกอิเอเชีย ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เปิดกว้างต่อการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่นในการลดการพึ่งพาจีน แม้จะไม่เต็มใจนัก แต่ต้องการเห็นการลงทุนเชิงรุกมากขึ้นจากประเทศเหล่านี้

ทั้งนี้ นายราชิดกล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่บรรดาบริษัทใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนถูกผลักให้เข้าไปสู่สิ่งที่เขาเรียกว่า "สงครามเย็นทางเศรษฐกิจ" ที่บังคับให้บริษัทในอาเซียนเหล่านี้ต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับจีนและไม่เกี่ยวข้องกับจีน

นายราชิด ซึ่งควบตำแหน่งประธานผู้อำนวยการของอินดิกา เอนเนอร์จี (Indika Energy) ของอินโดนีเซียกล่าวว่า นี่นับเป็นเรื่องโชคร้ายอย่างยิ่งสำหรับอาเซียน ที่พยายามทำธุรกิจกับทุกฝ่าย พร้อมระบุว่า กรณีดังกล่าวไม่ดีสำหรับผู้บริโภคเช่นกัน เนื่องจากการแยกห่วงโซ่อุปทานจะกระทบต่อกลยุทธ์การผลิตสินค้าคราวละมาก ๆ เพื่อประหยัดต้นทุน และทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ นายราชิดระบุว่า "เราต้องการการลงทุน เราต้องการค้า เราต้องขาย เราอยากขายให้กับทั้งจีนและประเทศที่ไม่ใช่จีน" พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศในอาเซียน เนื่องจากสถานะของอาเซียนยังคงอยู่ในระดับกำลังพัฒนา

ดังนั้น นายราชิดกล่าวว่า ความปรารถนาของอาเซียนคือการเดินหน้าดำเนินกลยุทธ์ที่เป็นมิตรกับทุกฝ่ายต่อไป ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผลในการกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจ "เราต้องการเป็นมิตรกับทั้งสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น อาเซียนไม่ต้องการเลือกข้าง"

ขณะเดียวกัน นายราชิดกล่าวว่า แม้ว่าจีนจะเข้ามาลงทุนในอาเซียนอย่างรวดเร็ว แต่อาเซียนก็ไม่ต้องการการลงทุนจากแหล่งเดียว "เราอยากได้การลงทุนจากญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สหรัฐ และสหภาพยุโรป (EU) โปรดเข้ามาลงทุนในภูมิภาคของเรา"

ทั้งนี้ นายราชิดแสดงความคิดเห็นดังกล่าวขณะเยือนกรุงโตเกียว เพื่อเข้าร่วมงานสัปดาห์ธุรกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นและกลุ่มธุรกิจชั้นนำก็เข้าร่วมเช่นกัน อาทิ หอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น และสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren)

ก่อนหน้านี้ นายราชิดได้เดินทางเยือนยุโรปและสหรัฐ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ