สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ภาวะขาดแคลนน้ำถูกมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดและมีแนวโน้มที่จะเป็นองค์ประกอบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศในวงกว้างที่สร้างผลกระทบมากที่สุด โดยกลุ่มนักวิจัยระบุว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย เช่น อินเดียและจีนจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะขาดแคลนน้ำ
ทั้งนี้ นายอารูนาบา โกช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสภาพลังงาน สิ่งแวดล้อม และน้ำ (CEEW) ซึ่งเป็นสถาบันด้านนโยบายในอินเดียกล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีนอกรอบการประชุม "Ecosperity Week" ประจำปี 2566 ณ ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันอังคารที่ 6 มิ.ย.ว่า ทวีปเอเชียนั้นเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นเขตเมืองเร็วที่สุด โดยสิ่งนี้ทำให้มีความต้องการน้ำปริมาณมหาศาล
"ไม่ใช่เพียงแค่อุตสาหกรรมเก่าแก่ เช่นการผลิตเหล็กกล้า แต่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่นการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดก็ต้องการน้ำในปริมาณมากเช่นเดียวกัน" นายโกชกล่าว พร้อมระบุเสริมว่า "เอเชียถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยขับเคลื่อนใหม่สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ"
อุปสงค์น้ำจืดมีแนวโน้มที่จะพุ่งแซงอุปทานประมาณ 40% - 50% ภายในปี 2573 โดยนายโกชเตือนว่า ภาวะขาดแคลนน้ำไม่ควรถูกมองว่าเป็นปัญหาเฉพาะภาคส่วน แต่เป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ธนาคารโลกระบุว่า อินเดีย ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะขาดแคลนน้ำ โดยอินเดียมีประชากรคิดเป็นสัดส่วน 18% ของประชากรทั้งโลก แต่มีทรัพยากรน้ำเพียงพอสำหรับประชากรในประเทศเพียง 4% เท่านั้น ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่เผชิญแรงกดดันจากน้ำมากที่สุดในโลก
สถาบันวิจัยโลวี (Lowy Institute) ของออสเตรเลียระบุว่า น้ำบาดาลประมาณ 80% - 90% ของจีนนั้นไม่เหมาะสำหรับการบริโภค ขณะที่ครึ่งหนึ่งของน้ำบาดาลปนเปื้อนมลพิษมากเกินกว่าจะนำมาใช้สำหรับการทำอุตสาหกรรมและเกษตร ส่วนน้ำในแม่น้ำประมาณ 50% ไม่เหมาะสำหรับใช้ดื่มและครึ่งหนึ่งของน้ำในแม่น้ำก็ไม่เหมาะใช้ทำการเกษตรเช่นกัน
แม้จีนมีความคืบหน้าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด แต่ระบบพลังงานของจีนยังคงพึ่งพาถ่านหินเป็นหลัก และหากไม่มีน้ำย่อมไม่มีถ่านหิน