บริษัทวอลท์ ดิสนีย์ โค พยายามที่จะเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนและกอบกู้กำไรให้กับธุรกิจสื่อสตรีมมิง "ดิสนีย์พลัส" (Disney+) โดยในวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ย. 2565 ดิสนีย์ได้ออกมาระบุในแถลงการณ์ว่า นายบ๊อบ ไอเกอร์ ตกลงกลับมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทดิสนีย์อีกครั้งเป็นเวลา 2 ปี หลังจากเพิ่งเกษียณไปได้ไม่นาน
ทั้งนี้ นายไอเกอร์ได้ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แทนนายบ๊อบ ชาเปก ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารต่อจากนายไอเกอร์ในเดือนก.พ. 2563 อันเป็นช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 ระบาดได้ไม่นาน ซึ่งนำไปสู่การสั่งปิดสวนสนุกและออกมาตรการจำกัดการเข้าใช้บริการของลูกค้าทั่วโลก
แม้เวลานั้นนายชาเปกเป็นผู้นำพาดิสนีย์ก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ดิสนีย์ได้สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนในเดือนพ.ย. 2565 ด้วยการรายงานผลประกอบการที่แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจสื่อสตรีมมิงประสบปัญหาขาดทุนแบบต่อเนื่อง
ดิสนีย์รายงานในเดือนพ.ย. 2565 ว่า ดิสนีย์ประสบกับภาวะขาดทุนเพิ่มมากขึ้นสำหรับธุรกิจสื่อสตรีมมิงประจำไตรมาส 4/2565 ซึ่งรวมถึง "ดิสนีย์พลัส" (Disney+) ส่งผลฉุดให้ราคาหุ้นร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี หลังการเผยผลประกอบการเพียงหนึ่งวัน
หลังจากที่นายไอเกอร์ก้าวขึ้นบริหารดิสนีย์ก็ได้พยายามพลิกฟื้นธุรกิจอย่างแข็งขัน โดยในวันพุธที่ 8 ก.พ. 2566 ดิสนีย์ได้ออกมาประกาศว่า บริษัทกำลังวางแผนปรับโครงสร้างโดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ภาคส่วน
ทั้งนี้ ธุรกิจทั้ง 3 ของดิสนีย์ได้แก่ 1. ดิสนีย์ เอนเตอร์เทนเมนต์ (Disney Entertainment) ซึ่งประกอบด้วยบริการสตรีมมิ่งรายการและการดำเนินงานด้านสื่อ 2. อีเอสพีเอ็น (ESPN) ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายโทรทัศน์และบริการสตรีมมิ่งรายการที่ชื่อว่า อีเอสพีเอ็นพลัส (ESPN+) และ 3. ธุรกิจสวนสนุก การมอบประสบการณ์ และผลิตภัณฑ์
ขณะเดียวกัน ดิสนีย์ได้ประกาศแผนปลดพนักงาน 7,000 ตำแหน่ง ภายใต้แผนลดต้นทุนธุรกิจ 5.5 พันล้านดอลลาร์
ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ดิสนีย์ระบุว่า บริษัทจะลดต้นทุนธุรกิจ 5.5 พันล้านดอลลาร์ โดยเป็นการลดต้นทุนด้านคอนเทนต์ 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงกีฬา ส่วนอีก 2.5 พันล้านดอลลาร์นั้นมาจากการลดต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ โดยบรรดาผู้บริหารดิสนีย์ระบุว่า บริษัทได้เริ่มดำเนินการลดต้นทุน 1 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ไตรมาสที่ผ่านมาแล้ว
ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 11 พ.ค. 2566 ดิสนีย์ได้ออกมาเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาดในไตรมาส 1/2566 ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบจากการที่จำนวนสมาชิกดิสนีย์พลัส (Disney+) ลดลง 4 ล้านราย
ทั้งนี้ ดิสนีย์ระบุว่า กำไรต่อหุ้นในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 93 เซนต์ สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรีฟินิทิฟ (Refinitiv) คาดการณ์ไว้ที่ 93 เซนต์ และรายได้อยู่ที่ 2.182 หมื่นล้านดอลลาร์ มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.178 หมื่นล้านดอลลาร์
ส่วนจำนวนสมาชิกที่ใช้บริการสตรีมมิงดิสนีย์พลัสทั่วโลกลดลง 4 ล้านราย สู่ระดับ 157.8 ล้านราย ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 163.17 ล้านราย
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ธุรกิจสตรีมมิงของดิสนีย์เผชิญกับความยากลำบากในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนการใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้นและผู้บริโภคเริ่มระมัดระวังมากขึ้นในการใช้จ่ายด้านสื่อ
ในวันพฤหัสบดีที่ 18 พ.ค. 2566 ดิสนีย์ประกาศว่าจะปิดโรงแรม "สตาร์ วอร์ส: กาแลกติก สตาร์ครูเซอร์" (Star Wars: Galactic Starcruiser) ที่เมืองออร์แลนโดในรัฐฟลอริดาในเดือนก.ย. 2566 หลังจากที่เพิ่งเปิดตัวโรงแรมดังกล่าวเมื่อเดือนมี.ค. 2565 เนื่องจากต้องการลดค่าใช้จ่ายในธุรกิจบันเทิงและสวนสนุก
นอกจากนี้ ดิสนีย์ยังระบุในวันเดียวกันว่า กำลังยกเลิกแผนการที่จะสร้างวิทยาเขตองค์กรมูลค่าเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ในฟลอริดา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และความขัดแย้งกับนายรอน เดอซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาจากพรรครีพับลิกัน โดยในวันพุธที่ 26 เม.ย. 2566 ดิสนีย์ได้ดำเนินการยื่นฟ้องนายเดอซานติสในข้อหา "แก้แค้นต่อกรณีที่ดิสนีย์ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านกฎหมาย ?อย่าเอ่ยถึงเกย์? (Don?t Say Gay) ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐ
ในวันพฤหัสบดีที่ 15 มิ.ย. 2566 ดิสนีย์ออกมาประกาศเรื่องการก้าวลงจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินแบบกะทันหันของนางคริสตีน แมกคาร์ธี โดยในระหว่างนี้นางแมกคาร์ธีจะใช้สิทธิ์ลาเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัวที่ล้มป่วย แต่จะยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ให้กับดิสนีย์ต่อไป ขณะที่ นายเควิน แลนส์เบอร์รี ซึ่งปัจจุบันรับหน้าที่เป็นผู้บริหารฝ่ายการเงินในธุรกิจสวนสนุกของดิสนีย์จะเข้ารับตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินดิสนีย์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 1 ก.ค. 2566