แม้ว่าเพชรยังคงเป็นอัญมณีที่สตรีทั่วโลกใฝ่ฝันที่จะครอบครอง ดังบทเพลง "Diamonds are a girl?s best friend" ที่ขับร้องโดยสาวเจ้าเสน่ห์อย่างมารีลิน มอนโร แต่ขณะนี้เพชรกลับกลายเป็นสินทรัพย์ที่ไม่พึงปรารถนาของบรรดานักลงทุน เนื่องจากมูลค่าของอัญมณีชนิดนี้ทรุดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก Global Rough Diamond Price Index ระบุว่า ราคาเพชรปรับตัวลง 18% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เคยทำสถิติไว้ในเดือนก.พ. 2565 และนับตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงขณะนี้ ราคาเพชรลดลงไปแล้ว 6.5% ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงตลาดเพชรคาดการณ์ว่า มูลค่าของเพชรจะลดลงอีกในอนาคต
พอล ซิมมินสกี ซีอีโอของบริษัท Paul Zimnisky Diamond Analytics กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า เพชร 1 กะรัตที่มีคุณภาพสูงกว่าระดับเฉลี่ยเล็กน้อย มีราคาอยู่ที่ 6,700 ดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว แต่ในวันนี้ เพชรคุณภาพเดียวกัน มีราคาขายอยู่ที่ 5,300 ดอลลาร์เท่านั้น
ราคาเพชร รวมถึงอัญมณีชนิดอื่น ๆ พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด โดยพุ่งแตะจุดสูงสุดในช่วงต้นปี 2565 ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Bain & Company แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า "นั่นเป็นเพราะผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่าย โดยพวกเขามีเงินสดจำนวนมากจากการที่ตลาดทุนเฟื่องฟูและผลพวงของการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้บรรดาหญิงสาวที่มีกำลังซื้อสามารถซื้อสิ่งของต่าง ๆ ที่พวกเธอต้องการครอบครอง"
"เมื่อประชาชนไม่สามารถเดินทางหรือออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านได้ในช่วงโควิด-19 ระบาด เงินที่มีอยู่มากเกินพอเหล่านี้จึงทุ่มไปกับสินค้าหรูหราและอัญมณี และเมื่อหลายประเทศกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ราคาเพชรก็เริ่มทรงตัว และร่วงลงรุนแรงในเวลาต่อมา" แอนเคอร์ ดากา ซีอีโอของบริษัท Angara Jewelry แสดงความเห็น
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมองว่า การแข่งขันที่เป็นไปอย่างดุเดือดอย่างต่อเนื่องในตลาดเพชรที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า และความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดเพชรซบเซาลง
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นหันไปซื้อเพชรเทียมที่ผลิตในห้องแล็บ ซึ่งทำให้เพชรเทียมมีส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเพชรธรรมชาติ โดยในปี 2563 ส่วนแบ่งตลาดของเพชรเทียมมีเพียง 2.4% แต่นับตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงขณะนี้ ส่วนแบ่งตลาดของเพชรเทียมพุ่งขึ้นเป็น 9.3% แล้ว
"เพชรเทียมที่ผลิตในห้องแล็บเป็นวัตถุที่มีเคมีเป็นองค์ประกอบ และดูเหมือนจะกลายเป็นเพชรทางเลือกที่จะมาแทนที่เพชรธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบ ที่สำคัญคือมีราคาถูกกว่ามาก ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้คนจำนวนมากขึ้นหันไปซื้อเพชรเทียมเพื่อเป็นแหวนหมั้น"
"ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้น ผมคาดว่าในอีก 12 เดือนข้างหน้า ราคาเพชรธรรมชาติจะดิ่งลงหนักสุดประมาณ 20-25% จากระดับปัจจุบัน ซึ่งหากเป็นไปตามคาด ก็เท่ากับว่าราคาเพชรจะดิ่งลงรุนแรงถึง 40% จากระดับสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนก.พ." ดากากล่าว
ส่วนกรณีที่เพชรของรัสเซียถูกคว่ำบาตรโดยชาติสมาชิกกลุ่ม G7 นั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจะไม่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาเพชรพุ่งขึ้น โดยซิมมินสกีกล่าวว่า รัสเซียเร่งนำเพชรออกมาจำหน่ายในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดที่เคยเสียไปในปีที่แล้วหลังจากการซื้อขายหยุดชะงักลง และเขาคาดว่ารัสเซียจะไม่มีปัญหาในการขายเพชรแม้ว่าจะถูกคว่ำบาตร ตราบใดที่กลุ่มผู้ซื้อยังคงชื่นชอบเพชรของรัสเซีย
"หลายประเทศ เช่น อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแม้กระทั่งสหภาพยุโรป ไม่ได้คว่ำบาตรการนำเข้าเพชรรัสเซีย" ซิมมินสกีกล่าว โดยอินเดียเป็นประเทศที่นำเข้าเพชรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก รองลงมาคือสหรัฐ ฮ่องกง เบลเยียม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์