ธนาคารโลกเตือนในรายงานฉบับใหม่ชื่อ "การฟื้นตัวที่เปราะบาง" (A fragile recovery) ที่เผยแพร่ในวันนี้ (27 มิ.ย.) ว่า เศรษฐกิจเมียนมาเผชิญความเสียหาย "แบบถาวร" จากนโยบายที่บิดเบือนและวิกฤตการณ์ที่รุนแรงขึ้นทุกขณะนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564
"ในระยะกลาง เศรษฐกิจเมียนมาที่หดตัวอย่างรุนแรงในปี 2564 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงและไม่ต่อเนื่อง และการบิดเบือนนโยบายเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเมียนมาแบบถาวร" ธนาคารโลกระบุ
ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเมียนมาจะขยายตัว 3% ในช่วง 1 ปีระหว่างเดือนต.ค. 2565 ? ก.ย. 2566 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ แต่การคาดการณ์ครั้งนี้ยังคงต่ำกว่า GDP ในช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาดในปี 2562 อยู่ประมาณ 10% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะซบเซาภายใต้การปกครองในระบอบทหารของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย
นักเศรษฐศาสตร์อิสระหลายรายของเมียนมาที่มีความเกี่ยวพันกับรัฐบาลพลเรือนชุดเก่าภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจีได้ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของธนาคารโลก โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเมียนมาจะชะลอตัวแตะ 14% ในช่วง 1 ปีระหว่างเดือนต.ค. 2565 ? ก.ย. 2566
"เมื่อปีที่แล้ว สองปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อสูงคือราคาเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงและค่าเงินจัตเมียนมาอ่อนค่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารโลกระบุไว้ในรายงานจับตาเศรษฐกิจฉบับก่อน" อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจระดับอาวุโสของเมียนมาระบุ โดยชี้ว่า ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของธนาคารโลกนั้นดีจนเกินไป "ขณะนี้มีปัญหาเพิ่มขึ้นมากมายและเราทราบว่าครอบครัวที่มีรายได้น้อยบางครอบครัวต้องใช้เงินมากถึง 64% ของรายได้ทั้งหมดไปกับการซื้ออาหาร ซึ่งปรากฎอยู่ในผลสำรวจระดับชาติเมื่อไม่นานมานี้"
อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจระดับอาวุโสรายดังกล่าวระบุด้วยว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายพยายามกล่าวโทษว่า "การจัดการด้านการเงินและการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน" เป็นสาเหตุของเงินเฟ้อด้านอาหาร แต่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า "ผู้ร้ายรายสำคัญ" ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้และปัญหาอื่น ๆ ของเมียนมาก็คือการที่กองทัพเข้ามายึดอำนาจ