ธนาคารโลกระบุในรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจจีนฉบับล่าสุดชื่อ "รักษาการเติบโตให้ยั่งยืนผ่านการฟื้นฟูและอื่น ๆ" (Sustaining Growth through the Recovery and Beyond) ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 จากแรงหนุนของการยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางและการใช้จ่ายในภาคบริการที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงผลักดันการเติบโตได้ชะลอตัวลงนับตั้งแต่เดือนเม.ย. ซึ่งบ่งชี้ว่า การฟื้นตัวของจีนยังคงมีความเปราะบางและต้องพึ่งพานโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ
ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนจะขยายตัว 5.6% ในปี 2566 โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ผู้บริโภคเป็นหลัก การใช้จ่ายด้านเงินทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการผลิตมีแนวโน้มที่จะยังคงยืดหยุ่นต่อไป ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะซบเซา เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างอ่อนแอส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก
"การปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่สำคัญยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความแข็งแกร่งต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการบรรลุเป้าหมายระยะยาวของจีน ในการทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุม" นางมารา วอร์วิก ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำจีน มองโกเลีย และเกาหลีระบุ
"การที่เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวนั้นได้สร้างโอกาสในการลดความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มเติม รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม และดำเนินการปฏิรูปตลาดเพื่อส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ขณะเดียวกันก็เดินหน้าผลักดันการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"
จีนเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น โดยรายได้ที่เติบโตอย่างซบเซา ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการฟื้นตัวในตลาดแรงงาน และการออมเงินในระดับสูงของภาคครัวเรือนอาจบั่นทอนการใช้จ่ายของผู้บริโภค แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีเสถียรภาพ แต่หนี้สินที่มากเกินไปของบรรดานักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังคงไม่ได้รับการแก้ปัญหาเป็นส่วนใหญ่ และความอ่อนแอที่ยืดเยื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
ส่วนในด้านปัจจัยภายนอกนั้น ความเสี่ยงต่าง ๆ มาจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ภาวะการเงินที่ตึงตัวมากกว่าที่คาดการณ์ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรง แต่การฟื้นตัวที่รวดเร็วขึ้นของการจ้างงานจะช่วยหนุนความเชื่อมั่นและกระตุ้นการเติบโตด้านการบริโภคเพิ่มมากขึ้น
"การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งสร้างงานและกระตุ้นรายได้ภาคครัวเรือนจะยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความเจริญรุ่งเรืองแบบถ้วนหน้า" นางอีลิตซา มิเลวา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนของธนาคารโลกระบุ พร้อมกล่าวเสริมว่า "ส่วนนโยบายการคลัง ทั้งมาตรการด้านรายได้และการใช้จ่าย จะช่วยส่งเสริมการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกันมากขึ้นในหมู่ประชากรของจีน"