ราคาโกโก้พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 46 ปีที่ตลาดลอนดอนในวันพุธ (28 มิ.ย.) เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงในแอฟริกาตะวันตกได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตโกโก้ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตช็อกโกแลต
ทั้งนี้ สัญญาโกโก้ส่งมอบเดือนก.ย.ที่ตลาดลอนดอนพุ่งขึ้นกว่า 2% แตะระดับ 2,590 ปอนด์/ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2520 โดยการพุ่งขึ้นของราคาโกโก้มีสาเหตุมาจากภาวะเมล็ดโกโก้ขาดตลาด ซึ่งเมล็ดโกโก้ส่วนใหญ่ผลิตในประเทศไอวอรีโคสต์ และกานา ขณะที่การส่งออกเมล็ดโกโก้ของไอวอรีโคสต์ลดลงเกือบ 5% ในฤดูกาลนี้
องค์การโกโก้ระหว่างประเทศ (International Cocoa Organization -ICCO) คาดการณ์ว่า อุปทานโกโก้ในตลาดโลกจะลดลงราว 142,000 ตัน ซึ่งมากกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะลดลงเพียง 60,000 ตัน
นายลีโอนาโด รอสเซติ นักวิเคราะห์จากบริษัท StoneX กล่าวว่า ฤดูกาลนี้นับเป็นฤดูกาลที่ 2 ติดต่อกันที่อุปทานโกโก้ในตลาดโลกเผชิญภาวะตึงตัว พร้อมคาดการณ์ว่า อัตราส่วนสต็อกต่อการใช้ (stocks-to-use ratio) ซึ่งเป็นมาตรวัดปริมาณโกโก้ในตลาดนั้น จะลดลงสู่ระดับ 32.2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ฤดูกาลปี 2527/2528
ส่วนราคาโกโก้ในตลาดสหรัฐพุ่งขึ้นเช่นกัน โดยสัญญาโกโก้ส่งมอบเดือนก.ย.พุ่งขึ้น 2.7% แตะที่ระดับ 3,348 ดอลลาร์/ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง
การพุ่งขึ้นของราคาโกโก้มีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาช็อกโกแลตปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยข้อมูลจากนีลเซนไอคิว (NielsenIQ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้านการบริโภคระบุว่า ราคาช็อกโกแลตพุ่งขึ้น 14% ในปี 2565 ขณะที่บริษัทวิจัยตลาดอีกหลายแห่งคาดการณ์ว่า ราคาช็อกโกแลตจะพุ่งขึ้นอีก เนื่องจากภาวะขาดแคลนโกโก้ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตช็อกโกแลต
เซอร์เกย์ เชตเวอร์ทาคอฟ นักวิเคราะห์จากเอสแอนด์พี โกลบอล คอมโมดิตีส์กล่าวว่า "ราคาโกโก้ในตลาดพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ฤดูกาลนี้ถือเป็นฤดูกาลที่สองติดต่อกันที่โกโก้ขาดตลาด และคาดว่าสต็อกโกโก้ในตลาดโลกจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"
นายเชตเวอร์ทาคอฟคาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนในแอฟริกาตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกโกโก้ขนาดใหญ่นั้น ลดลงต่ำกว่าระดับเฉลี่ย โดยประเทศไอวอรีโคสต์และกานา มีการเพาะปลูกโกโก้ในอัตราส่วนสูงกว่า 60% ของการผลิตโกโก้ทั่วโลก
นอกจากนี้ นายเชตเวอร์ทาคอฟคาดการณ์ว่า ตลาดโกโก้จะเผชิญภาวะขาดแคลนต่อไปอีกในฤดูกาลหน้าซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนต.ค.ปีนี้ไปจนถึงเดือนก.ย.ปีหน้า ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาโกโก้ในตลาดล่วงหน้าทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดถึง 3,600 ดอลลาร์/ตัน
"ผมเชื่อว่าผู้บริโภคจะเผชิญกับราคาช็อกโกแลตที่แพงขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตช็อกโกแลตจะผลักต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนี้ไปให้กับผู้บริโภค ในขณะที่ผู้ผลิตเองก็ต้องรับมือกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ราคาพลังงานที่แพงขึ้น และภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น" เขากล่าว