JCER หั่นคาดการณ์ศก. 5 ประเทศอาเซียนปีนี้ แต่เพิ่มไทยเล็กน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 2, 2023 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ญี่ปุ่นเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจ (Japan Center for Economic Research ? JCER) และนิกเกอิเปิดเผยผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จาก 5 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย รวมถึงอินเดียที่รวบรวมระหว่างวันที่ 2 ? 23 มิ.ย. ระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ได้ลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศอาเซียนสู่ 4.2% ในปีนี้ จากขยายตัว 4.4% ที่คาดการณ์ในผลสำรวจที่จัดทำเมื่อเดือนมี.ค. โดยถูกฉุดจากเศรษฐกิจสิงคโปร์และอินโดนีเซีย

อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของอาเซียน ถูกลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 5% เหลือ 4.9% ในปีนี้ จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะขาลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีน เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญสำหรับอาเซียน

ส่วนสิงคโปร์ถูกปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 2.1% เหลือ 1.3% ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม JCER เพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเล็กน้อยจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 3.7% เป็น 3.8% ในปีนี้ ส่วนฟิลิปปินส์ได้รับการปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 5.6% เป็น 5.9% ในปีนี้ และคงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซียที่ 4.4% ในปีนี้

นายอัลวิน หลิวจากธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์ระบุว่า "เรามองว่าสิงคโปร์มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเผชิญภาวะถดถอยทางเทคนิคในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วถูกกดดันจากภาคการผลิตที่อ่อนแอ"

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ยังมองว่าผลกระทบจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่ออาเซียน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะฉุดเศรษฐกิจ

อีกปัจจัยที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขึ้นมองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ "ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง" โดยเฉพาะในไทยที่ "ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง" กลายมาเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในผลสำรวจฉบับล่าสุด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอันดับสองในผลสำรวจฉบับก่อนหน้า

JCER ระบุว่า แม้พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่แน่นอนว่าพรรคดังกล่าวจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่สำเร็จหรือไม่ ซึ่งสร้างความวิตกกังวลในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับกระบวนการถ่ายโอนอำนาจการบริหารให้กับรัฐบาลชุดใหม่และความต่อเนื่องของนโยบายในการบริหารประเทศ

"ปัญหาทางการเมืองในไทย โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ อาจสร้างความไม่แน่นอนให้กับคาดการณ์เศรษฐกิจไทย" ลลิตา เธียรประสิทธิ์ จากศูนย์วิจัยกสิกรระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ