ฮาวเดน บริษัทประกันภัยระดับโลก เปิดเผยผ่านรายงานวันนี้ (5 ก.ค.) ว่า อัตราเบี้ยประกันภัยไซเบอร์ลดลงราว 10% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สวนทางกับการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนหน้านี้ หลังมีผู้ถือกรมธรรม์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่าคาด
ฮาวเดนระบุว่า อัตราเบี้ยประกันภัยไซเบอร์พุ่งขึ้นมากกว่าเท่าตัวในปี 2564 ระหว่างการระบาดของโควิด-19 โดยได้รับแรงหนุนจากการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ที่เพิ่มสูงขึ้น
อนึ่ง แรนซัมแวร์ หรือซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ ทำงานโดยการเข้ารหัสล็อกข้อมูลของเหยื่อ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แฮกเกอร์จะมอบรหัสผ่านเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวให้กับเหยื่อแลกกับค่าไถ่เป็นสกุลเงินดิจิทัล
ฮาวเดนระบุว่า จำนวนการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ทั่วโลกลดลง 20% ในปี 2565 เมื่อเทียบรายปี หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เนื่องจากแฮกเกอร์ในประเทศเหล่านั้นจำเป็นต้องมุ่งความสนใจไปยังด้านการทหารแทน
นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยต่าง ๆ ยังเรียกร้องให้ลูกค้าของตนเพิ่มการป้องกันตัวเองจากการโจมตีไซเบอร์ให้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นการลดทอนความเสี่ยงและส่งเสริมให้บริษัทผู้รับประกันภัยเข้าสู่ตลาดมากขึ้น หลังจากผ่านช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนมาแล้ว
นายเชย์ซิม ซิมกิน หัวหน้าฝ่ายไซเบอร์ระดับโลกของฮาวเดน กล่าวว่า เบี้ยประกันภัยไซเบอร์มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นมากกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565 เทียบกับ 1.0-1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2564 และฮาวเดนคาดว่า มูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 เมื่อพิจารณาจากขนาดของอาชญากรรมทางไซเบอร์
เมื่อเทียบรายปี การโจมตีจากแรนซัมแวร์เพิ่มขึ้น 47% ในไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากแฮกเกอร์เริ่มกลับมามุ่งเน้นที่ผลประโยชน์เชิงพาณิชย์อีกครั้ง
"ในท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาก็ต้องหาเงินอยู่ดี" นายซิมกินกล่าว