สมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่น (Rengo) กล่าวในวันนี้ (5 ก.ค.) ว่า บริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นเสนอขึ้นค่าแรงสูงที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ หลังจากเจรจาหลายครั้งกับกลุ่มแรงงานในปีนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาชี้ว่า การขึ้นค่าแรงนี้จะช่วยฟื้นฟูอุปสงค์ที่อ่อนแอของกลุ่มผู้บริโภคได้
จากการสำรวจของ Rengo ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานด้านการค้าที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น พบว่า รายงานจากสหภาพแรงงานต่าง ๆ ในเดือนมี.ค. ระบุว่ามีการปรับขึ้นค่าแรง โดยขยายจากสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ไปยังแรงงานในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) หรือธุรกิจที่มีสมาชิกสหภาพแรงงานไม่เกิน 300 คน
การสำรวจขั้นสุดท้ายพบว่า สหภาพแรงงาน 5,272 แห่ง ที่เป็นสมาชิกของ Rengo แสดงให้เห็นว่ามีการปรับขึ้นค่าแรงเฉลี่ยที่ระดับ 3.58% หรือ 10,560 เยนต่อเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ระดับ 3.9% เมื่อปี 2536 ซึ่งในจำนวนนี้ ผู้ประกอบการ SME ปรับขึ้นค่าแรง 3.23% ซึ่งเป็นอัตราที่มากที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การเติบโตของค่าแรงเป็นหนึ่งในแนวโน้มสำคัญที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำลังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากใช้ในการประกอบการพิจารณาว่าเมื่อใดที่ควรยกเลิกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultraloose monetary policy)
นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้เน้นย้ำหลายต่อหลายครั้งถึงความจำเป็นในการคงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จนกว่าค่าแรงจะเพิ่มขึ้นมากเพียงพอที่จะทำให้ราคาสินค้าเติบโตอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายที่ประมาณ 2%
ด้านนายฮิซาชิ ยามาดะ นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโฮเซย์ กล่าวว่า "ราคาที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นและปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เรื้อรังกำลังผลักดันให้ค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีหน้า สิ่งที่สำคัญต่อจากนี้ไปคือเพิ่มค่าจ้างที่แท้จริงให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ"
นายยามาดะ กล่าวอีกว่า "ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะช่วยรักษาอัตราเงินเฟ้อให้คงที่ที่ 2% ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในการยกเลิกการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในเร็ว ๆ นี้ หรือหลังจากนี้"