นักลงทุนในตลาดการเงินจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันพุธที่ 12 ก.ค.กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนมิ.ย. และจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนมิ.ย.ในวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.ค.
เจมส์ เรแกน นักวิเคราะห์จากบริษัท D.A. Davidson นักลงทุนจับตาข้อมูล CPI และ PPI ของสหรัฐในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อไปแล้วบางรายการ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE)
ทั้งนี้ ดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่วนดัชนี PPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต
ส่วนในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานั้น ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 4.0% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2564 และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 4.9% ในเดือนเม.ย.
ขณะที่ดัชนี PPI เดือนพ.ค.ปรับตัวขึ้น 1.1% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.5% จากระดับ 2.3% ในเดือนเม.ย.
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7 ก.ค.) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 209,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ตำแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ 306,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ส่วนตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.2%
ปีเตอร์ เชอร์ นักวิเคราะห์จาก Academy Securities คาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้มีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาดเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากตัวเลขค่าจ้างในรายงานดังกล่าวยังคงบ่งชี้เงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้น