สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในปัจจุบัน กัลเลียมถูกนำไปใช้งานอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ใช้ผลิตหลอดไฟแอลอีดี ไปจนถึงหัวชาร์จขนาดเล็กสำหรับโทรศัพท์มือถือ และสารกึ่งตัวนำในสารประกอบ 2 ชนิดของกัลเลียมได้กลายเป็นที่ต้องการสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์
ข้อมูลจากพันธมิตรวัตถุดิบสำคัญ (Critical Raw Materials Alliance - CRMA ) ซึ่งเป็นสมาคมอุตสาหกรรมของยุโรป เผยว่า ประมาณ 80% ของกัลเลียมนั้นผลิตขึ้นในจีน โดยกัลเลียมเป็นโลหะที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และกัลเลียมในรูปแบบบริสุทธิ์สามารถละลายในมือได้
บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต่างต้องการวัตถุดิบที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับรถยนต์ไฟฟ้าและลดน้ำหนักให้เบาลง ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดต้นทุนได้ โดยกัลเลียมไนไตรด์ (Gallium Nitride) สามารถทำได้ทั้งสองอย่าง และมีราคาถูกกว่าวัสดุเซมิคอนดักเตอร์อื่น ๆ มาก เช่น พลาตินัม หรือพัลลาเดียม
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้น สารประกอบของกัลเลียมไนไตรด์สามารถจัดการกับพลังงานจำนวนมากโดยไม่ก่อให้เกิดความร้อน ทำให้เหมาะสมสำหรับเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ในตัวรถยนต์ไฟฟ้า หรือเครื่องชาร์จแบบออนบอร์ด และอุปกรณ์สลับกระแสไฟฟ้าจากกระแสตรงเป็นกระแสสลับ (inverter) ซึ่งช่วยควบคุมการไหลเข้าและออกของกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่
แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านแร่บางส่วนกล่าวว่า การที่จีนตัดสินใจควบคุมการส่งออกกัลเลียมและเจอร์เมเนียม (Germanium) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโลหะที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งแต่เดือนหน้านั้น อาจทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องคิดทบทวนใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก จากผลพวงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องหยุดการผลิตรถยนต์บางรุ่น