องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยในรายงานแนวโน้มการจ้างงานปี 2566 (2023 Employment Outlook) เมื่อวันอังคาร (11 ก.ค.) ว่า ตำแหน่งงานในกลุ่มประเทศ OECD มากกว่า 1 ใน 4 นั้นพึ่งพาทักษะการทำงานที่สามารถเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติได้อย่างง่ายดาย ท่ามกลางการปฏิวัติด้านปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ที่กำลังขยายตัว ซึ่งบรรดาแรงงานต่างกังวลว่า เอไอจะมาแย่งงานของตนไป
OECD กล่าวว่า มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยเท่านั้นว่า การเกิดขึ้นของเอไอมีผลกระทบต่อตำแหน่งงานของผู้คนอย่างมีนัยสำคัญ แต่นั่นอาจเป็นเพราะการปฏิวัติยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
ตำแหน่งงานที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะถูกเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติ คิดเป็นประมาณ 27% ของกำลังคนโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD โดยประเทศแถบยุโรปตะวันออกมีความเสี่ยงสูงสุด
งานที่มีความเสี่ยงสูงสุดคืองานที่ต้องใช้ทักษะและความสามารถ 25 รายการ จาก 100 รายการ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอพิจารณาว่าสามารถเปลี่ยนไปเป็นระบบอัตโนมัติได้อย่างง่ายดาย
ในผลสำรวจของ OECD ที่จัดทำขึ้นเมื่อปีที่แล้วเปิดเผยว่า 3 ใน 5 ของพนักงานกล่าวว่ามีความกังวลว่าจะถูกเอไอแย่งงานไปในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยผลสำรวจดังกล่าวสอบถามจากกลุ่มพนักงาน 5,300 คน จากบริษัท 2,000 แห่ง ครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและการเงิน 7 ประเทศในกลุ่ม OECD และการสำรวจนี้มีขึ้นก่อนการเปิดตัวปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI) อย่างแชตจีพีที (ChatGPT)
นายมาเธียส คอร์แมนน์ เลขาธิการ OECD กล่าวว่า "เอไอจะส่งผลกระทบต่อพนักงานในที่ทำงานอย่างไร และจะมีผลประโยชน์หรือมีความเสี่ยงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายของเรา"
"รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือแรงงานในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และการได้รับประโยชน์จากโอกาสที่เอไอจะเข้ามา" นายคอร์แมนน์กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ OECD ประกอบด้วยสมาชิก 38 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังรวมถึงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางแห่งด้วย เช่น เม็กซิโก และเอสโตเนีย