"ตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่งมาก และโดยรวมแล้วเศรษฐกิจก็ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งทำให้เฟดมีโอกาสที่จะดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไป" นายวอลเลอร์กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยชมรม Money Marketeers แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.)
ทั้งนี้ นายวอลเลอร์กล่าวว่า เขาสนับสนุนให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้เฟดมีเวลาในการประเมินว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดในภาคธนาคารมากเพียงใด ขณะเดียวกันเขาก็มองว่า ปัญหาเหล่านั้นถือเป็นกระจกที่สะท้อนการดำเนินนโยบายของเฟดในช่วงที่ผ่านมา
ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ นายวอลเลอร์สนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้งในปีนี้ และกล่าวว่า "ผมมองไม่เห็นเหตุผลใดที่เฟดจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมช่วงปลายเดือนนี้"
"หากเงินเฟ้อไม่ได้ส่งสัญญาณถึงความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้ส่งสัญญาณถึงการชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้งก็ควรจะเกิดขึ้นโดยเร็ว แทนที่จะเลื่อนเวลาออกไป ซึ่งการตัดสินใจเช่นนี้ก็เพื่ออนาคต" นายวอลเลอร์กล่าว พร้อมระบุว่า "การประชุมเดือนก.ย.เป็นการประชุมครั้งสำคัญที่จะต้องตัดสินใจ หากเงินเฟ้อไม่ชะลอตัวลงรวดเร็วมากพอ"
การแสดงความเห็นของนายวอลเลอร์มีขึ้น หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อชะลอตัวลงและมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (12 ก.ค.) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% จากระดับ 4.0% ในเดือนพ.ค.
และล่าสุดในวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.9% ในเดือนพ.ค.