IMF จ่อทบทวนแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ขณะส่งออก-การลงทุนชะลอตัวลง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 14, 2023 11:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง เนื่องจากการลงทุนในภาคเอกชนอ่อนแอลง ขณะที่การส่งออกชะลอตัว และอุปสงค์ภายในประเทศลดลง หลังจากที่เศรษฐกิจจีนทำผลงานได้แข็งแกร่งในไตรมาส 1 ภายหลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์และเปิดประเทศ

นางจูลี่ โคแซค โฆษก IMF กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) ว่า "เมื่อพิจารณาจากภาพรวมแล้ว จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ซึ่งมุมมองล่าสุดนี้สอดคล้องกับที่เราคาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย. และ IMF กำลังจับตาดูภาวะเงินเฟ้อของจีนที่ชะลอตัวลงในขณะนี้"

ทั้งนี้ นางโคแซคกล่าวว่า IMF จะทำการทบทวนตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของจีนในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ซึ่ง IMF จะเผยแพร่ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม นางโคแซคไม่ได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีน

ในรายงานที่ IMF เผยแพร่เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมานั้น IMF คาดการณ์ว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงของจีนในปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 5.2% เพิ่มขึ้นจากระดับ 3% ในปี 2565

นางโคแซคกล่าวว่า IMF กำลังจับตาตัวเลขเงินเฟ้อที่อ่อนแอลงในจีน เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอลงและเศรษฐกิจชะลอตัวลง

สำนักงานศุลกากรจีน (GAC) รายงานเมื่อวานนี้ว่า ยอดส่งออกเดือนมิ.ย.ร่วงลง 12.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าในเดือนพ.ค.ที่ปรับตัวลง 7.5% และรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่าจะลดลง 9.5% โดยการส่งออกของจีนได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของอุปสงค์ทั่วโลก และยิ่งทำให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

ทางด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) รายงานเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ทรงตัวในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งอ่อนแอกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ค.

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ร่วงลง 5.4% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 5% หลังจากที่ปรับตัวลง 4.6% ในเดือนพ.ค.

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนี CPI และ PPI ของจีนอ่อนแอลงนั้น เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง และสะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นไปอย่างเชื่องช้า และอาจผลักดันให้ทางการจีนเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไม่ช้านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ