เจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า ธนาคารจะใช้เครื่องมือนโยบายต่าง ๆ เช่น อัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) และโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่จีนกำลังเผชิญอยู่
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นได้ชะลอตัวลงอย่างมาก แม้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในไตรมาส 1/2566 ซึ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับผู้กำหนดนโยบายในการเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่
นายโจว หลาน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงินของ PBOC ระบุว่า เพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและราคา PBOC จะใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงินอย่างครอบคลุม เช่น RRR, MLF และการดำเนินนโยบายทางการเงินผ่านทางตลาดการเงิน (Open Market Operation)
นายโจวแถลงต่อสื่อมวลชนว่า "ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนยึดมั่นในการใช้นโยบายการเงินที่ระมัดระวังและเป็นมาตรฐาน โดยมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) อย่างเพียงพอ และมีเครื่องมือนโยบายจำนวนมาก" พร้อมเสริมว่า ธนาคารจะรักษาการเติบโตของสินเชื่อให้เหมาะสม และแนะแนวทางให้ธนาคารต่าง ๆ เพิ่มการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทเอกชนขนาดเล็ก
ธนาคารกลางจีนได้ปรับลด RRR ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นปริมาณเงินสดสำรองที่ธนาคารต้องดำรงไว้ตามกฎหมาย และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.10% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน
แรงกดดันด้านราคาเริ่มมีแนวโน้มขาลง ขณะที่ราคาผู้บริโภคเข้าใกล้ภาวะเงินฝืด และภาวะเงินฝืดของผู้ผลิตย่ำแย่ลงในเดือนมิ.ย.
อย่างไรก็ตาม นายหลิว กั๋วเฉียง รองผู้ว่าการ PBOC กล่าวว่า จีนยังไม่เห็นภาวะเงินฝืด และไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้