ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ BOK จะต้องบริหารจัดการเสถียรภาพทางการเงินและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เนื่องจากหนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศเริ่มสูงขึ้น
"ในแง่ของนโยบายการเงินนั้น BOK ควรพิจารณาถึงเสถียรภาพด้านการเงินอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการก่อหนี้สินมากเกินไปหรือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเมื่อมีการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เราจำเป็นต้องมีการอภิปรายกัน เพื่อนำเสนอนโยบายการเงินแบบรอบคอบ โดยคำนึงถึงเสถียรภาพทางการเงินให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับเสถียรภาพด้านราคา" BOK ระบุในแถลงการณ์วันนี้ (17 ก.ค.)
ข้อมูลที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่า หนี้สินภาคครัวเรือนของเกาหลีใต้เดือนมิ.ย. พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 และเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 21 เดือน เนื่องจากอุปสงค์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า หนี้สินภาคครัวเรือนของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 4/2565 มีสัดส่วนสูงถึง 105% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ในบรรดา 43 ประเทศขนาดใหญ่ รองจากสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรเลีย
BOK ระบุว่า ความเสี่ยงของหนี้สินภาคครัวเรือนที่มีต่อเสถียรภาพด้านการเงินนั้น อยู่ในกรอบจำกัด เนื่องจากอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value - LTV) นั้นอยู่ในระดับต่ำ และประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างสูง แต่กรณีนี้บ่งชี้ถึงผลกระทบเชิงลบในระยะยาวที่จะต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และความไม่เท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ BOK กล่าวเสริมว่า ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้นในการสื่อสาร เพื่อไม่ให้ภาคครัวเรือนประเมินความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไป