คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เปิดฉากการประชุมว่าด้วยความเสี่ยงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในวันอังคาร (18 ก.ค.) ซึ่งถือเป็นการประชุมในวาระดังกล่าวเป็นครั้งแรก โดยในระหว่างการประชุม ตัวแทนจากจีนกล่าวว่า AI ไม่ควรจะกลายเป็น "ม้าที่วิ่งเตลิดจนไม่สามารถควบคุมได้" ในขณะที่ตัวแทนจากสหรัฐเตือนเกี่ยวกับการนำ AI ไปใช้ในการเซนเซอร์และควบคุมมนุษย์
นายเจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษซึ่งเป็นประธานการประชุมในครั้งนี้กล่าวว่า AI จะทำให้ชีวิตของมนุษยชาติเปลี่ยนแปลงไปโดยพื้นฐานในทุก ๆ ด้าน
"AI อาจจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เทคโนโลยีชนิดนี้อาจนำไปสู่การบิดเบือนข้อมูล อีกทั้งจะทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีการนำ AI ไปใช้เป็นอาวุธ ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องปรับแก้ระบบธรรมาภิบาลทั่วโลกเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก AI มีความรอบรู้อย่างไร้ขอบเขต"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในการประชุม UNSC ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 15 ชาติในครั้งนี้ มีการสรุปสาระสำคัญโดยนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN, นายแจ็ก คลาร์ก ผู้ร่วมก่อตั้ง Anthropic ซึ่งเป็นสตาร์ตอัป AI ระดับแนวหน้า และศาสตราจารย์เจิง อี้ ผู้อำนวยการร่วมของศูนย์วิจัยจีน-สหราชอาณาจักรด้านธรรมาภิบาลและจริยธรรมในการใช้ AI
ทั้งนี้ นายกูเตอร์เรสกล่าวว่า "การนำ AI มาใช้ทั้งในทางทหารและงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางทหารนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงผลกระทบที่จะมีต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก"
นายกูเตอร์เรสสนับสนุนข้อเรียกร้องของบางประเทศที่ต้องการให้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ของ UN เพื่อสนับสนุนความพยายามในการกำกับดูแลเทคโนโลยี AI โดยหน่วยงานใหม่นี้มีรูปแบบคล้ายกับสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA), องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (IPCC)
นายจาง จุง เอกอัครราชทูตจีนประจำ UN กล่าวว่า AI เป็นเหมือน "ดาบสองคม" และจีนสนับสนุนบทบาทการประสานงานแบบรวมศูนย์ของ UN ในการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางในการใช้งาน AI
"ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ขึ้นอยู่กับว่ามนุษยชาติจะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในทางใด แต่สิ่งที่ผมต้องการเห็นก็คือการใช้มาตรการกำกับดูแลเทคโนโลยีชนิดนี้ และหาแนวทางว่าเราจะสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์กับความมั่นคงได้อย่างไร เราควรจะใช้มาตรการกำกับดูแลการพัฒนา AI และป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีชนิดนี้กลายเป็นม้าที่วิ่งเตลิดจนไม่อาจควบคุมได้" นายจางกล่าว
ส่วนนายเจฟฟรีย์ เดอลอเรนทิส ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำ UN กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องทำงานร่วมกันในด้าน AI และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ในขณะนี้ เพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคง
"จะต้องไม่มีประเทศใดใช้ AI ในการเซนเซอร์, บีบบังคับ, ควบคุม หรือลดทอนอำนาจของมนุษยชาติ" นายเดอลอเรนทิสกล่าวในที่ประชุม UNSC