สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก กำลังเรียกร้องให้เกษตรกรภายในประเทศเพาะปลูกข้าวให้น้อยลงเพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวทั่วโลก หลังจากที่อินเดียสั่งระงับการส่งออกข้าวเมื่อไม่นานมานี้
ไทยกำลังเผชิญกับภาวะปริมาณน้ำฝนอยู่ในระดับต่ำ และเพื่อเป็นการสงวนน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึงได้เรียกร้องให้เกษตรกรหันไปเพาะปลูกพืชอื่น ๆ ที่ใช้น้ำน้อยกว่า และสามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสทนช.กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนในขณะนี้อยู่ต่ำกว่าระดับปกติประมาณ 40% ซึ่งมีความเสี่ยงสูงว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมระบุว่า การบริหารจัดการน้ำของไทยนั้น จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่ "น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค" และ "น้ำสำหรับการเพาะปลูกพืชยืนต้นที่มีอายุยืนนานหลายปี (perennial crops)"
ทั้งนี้ พืชที่มีอายุยืนนานหลายปี หมายถึงพืชที่สามารถเติบโตได้อีกหลังการเก็บเกี่ยว และไม่จำเป็นต้องปลูกขึ้นใหม่ในทุก ๆ ปี ไม่เหมือนกับบรรดาพืชล้มลุก (annual crops) โดยข้าวได้ถูกจัดอยู่ในหมวดของพืชล้มลุกด้วย
โดยเฉลี่ยแล้วการปลูกข้าวทุก 1 กิโลกรัมนั้น จะต้องใช้น้ำประมาณ 2,500 ลิตร เมื่อเทียบกับการเพาะปลูกพืชทางเลือกอื่น ๆ ในปริมาณ 1 กิโลกรัมที่ใช้น้ำเพียง 650-1,200 ลิตร
ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวไม่ใช่พันธุ์บาสมาติ (Basmati) เนื่องจากรัฐบาลอินเดียต้องการควบคุมราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นภายในประเทศ และรับประกันว่าจะมีปริมาณข้าวราคาเหมาะสมเพียงพอภายในประเทศ โดยการส่งออกข้าวของอินเดียคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก และคาดว่าคำสั่งห้ามส่งออกข้าวของอินเดียจะส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายล้านคนทั่วโลก
นายออสการ์ จาครา นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทโรโบแบงก์เปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า "ราคาข้าวทั่วโลกมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอีก เมื่อพิจารณาจากโอกาสที่ไทยจะลดการผลิตข้าวลงอย่างมีนัยสำคัญ"
"อย่างไรก็ดี เราคงต้องติดตามดูว่าเกษตรกรของไทยจะดำเนินการตามคำแนะนำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติหรือไม่ โดยเกษตรกรไทยอาจจะยังคงเลือกเพาะปลูกข้าวต่อไป เนื่องจากราคาข้าวที่ส่งออกสู่ตลาดโลกในขณะนี้อยู่ในระดับที่สูงมาก" นายจาครากล่าว