อย่างไรก็ดี อินเดียและจีนมีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องการขยายตัวของกลุ่มบริกส์ โดยอินเดียมองว่าบริกส์ควรเป็นกลุ่มเศรษฐกิจสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในขณะที่จีนต้องการให้บริกส์เป็นพลังทางการเมืองท้าชนกับกลุ่มชาติตะวันตก
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากประเทศแอฟริกาใต้ระบุว่า มีประเทศที่สนใจเข้าร่วมกลุ่มบริกส์อีก 23 ประเทศ
"ถ้าเราขยายกลุ่มบริกส์ให้มีจำนวน GDP โลกในสัดส่วนใกล้เคียงกับกลุ่ม G7 เสียงของพวกเราในเวทีโลกก็จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น" เจ้าหน้าที่จีนผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่งกล่าว
นางนาเลดี แพนดอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของแอฟริกาใต้กล่าวในเดือนนี้ว่า เป็นความคิดที่ "ผิดอย่างยิ่ง" ที่มองว่าการขยายตัวของกลุ่มบริกส์เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านชาติตะวันตก อย่างไรก็ดี ความเป็นไปได้ที่จะรับอิหร่าน, เบลารุส และเวเนซุเอลา เข้ามาเป็นชาติสมาชิกนั้น อาจถูกตะวันตกมองได้ว่าเป็นการอ้าแขนรับชาติพันธมิตรของรัสเซียและจีน
ขณะเดียวกัน อาร์เจนตินา, ซาอุดีอาระเบีย และอินโดนีเซีย กำลังแข่งกันเป็นชาติสมาชิกกลุ่มใหม่กลุ่มแรก นับตั้งแต่ที่แอฟริกาใต้เข้าร่วมกับบริกส์ในปี 2553
ด้านเจ้าหน้าที่ดูแลการเจรจาก่อนการประชุมสุดยอดกล่าวว่า เกณฑ์ในการรับชาติสมาชิกใหม่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นำกลุ่มบริกส์ก่อน แต่จะตัดเรื่องการใช้สกุลเงินร่วมกันออกไป การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาความเห็นชอบว่า ชาติสมาชิกบริกส์ควรจะทำการค้าระหว่างกันโดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละฝ่าย แทนที่จะเป็นดอลลาร์สหรัฐ