กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นระบุในวันนี้ (27 ส.ค.) ว่า ไม่พบสารกัมมันตรังสีในการทดสอบน้ำทะเลใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หลังจากญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลในวันพฤหัสบดีที่ 24 ส.ค. โดยน้ำปนเปื้อนดังกล่าวเคยถูกใช้ในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์
ทั้งนี้ การปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านในญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังทำให้จีนสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากญี่ปุ่น
กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นระบุว่า การทดสอบตัวอย่างจากพื้นที่ 11 จุดใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะได้ข้อสรุปว่า ความเข้มข้นของทริเทียม ซึ่งเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสี นั้นต่ำกว่าขีดจำกัด 7 - 8 เบคเคอเรลต่อลิตร ดังนั้นน้ำทะเลจะไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันนี้ว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นจะเผยแพร่ผลการทดสอบกัมมันตรังสีรายสัปดาห์อย่างน้อย 3 เดือน จากนั้นจะพิจารณากรอบเวลาในการเปิดเผยการทดสอบกัมมันตรังสีอีกครั้งในภายหลัง
ขณะที่กรมประมงญี่ปุ่นระบุเมื่อวันเสาร์ (26 ส.ค.) ว่า ไม่พบทริเทียมในการทดสอบปลาในน้ำรอบ ๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
ด้านบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะระบุเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ส.ค.ว่า น้ำใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนั้นปนเปื้อนทริเทียมต่ำกว่า 10 เบคเคอเรลต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าขีดจำกัดที่ทางบริษัทกำหนดไว้ที่ 700 เบคเคอเรลต่อลิตรและต่ำกว่าขีดจำกัดสำหรับน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ 10,000 เบคเคอเรลต่อลิตร