นักเศรษฐศาสตร์ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และคาดว่าธนาคารกลางจีนจะเร่งผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนยังไม่มีสัญญาณของการฟื้นตัว
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2566 ลงสู่ระดับ 5.1% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 5.2% ส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์ GDP ในขณะนี้เกือบจะเท่ากับเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ 5% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า รัฐบาลจีนมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจในประเทศมากเกินไป
สำหรับปัจจัยที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ปรับลด GDP ตลอดปี 2566 ของจีนนั้น มาจากการที่นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้คาดการณ์ว่าตัวเลข GDP ในไตรมาส 3/2566 ของจีนจะขยายตัวเพียง 4.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.6% ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ได้ปรับลดตัวเลข GDP ปี 2567 ของจีนลงสู่ระดับ 4.5% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 4.8%
ไมค์ กัลลาเฮอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทคอนตินัม อิโคโนมิกส์กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนอยู่ในทิศทางชะลอตัวลง อันเนื่องมาจากการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยและยอดการส่งออก โดยกัลลาเฮอร์ให้น้ำหนักมากถึง 30% ที่เศรษฐกิจจีนจะเผชิญกับภาวะฮาร์ดแลนดิ้งในปีนี้ แม้ว่ารัฐบาลจีนพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้นโยบายการเงินและการคลังก็ตาม
การแสดงมุมมองเชิงลบดังกล่าวมีขึ้น หลังจากจีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งรวมถึงยอดการปล่อยกู้ธนาคารที่ทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนในเดือนก.ค. ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวลงซึ่งบ่งชี้ว่าจีนกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด และยอดส่งออกที่ร่วงลงอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลงส่งผลให้ทางการจีนประกาศมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการที่ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนลง 0.15% ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี และจากนั้นได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีลง 0.10% สู่ระดับ 3.45%
นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.10% ในไตรมาส 4 ปีนี้ และคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีลง 0.10% หลังจากที่ธนาคารกลางได้คงอัตราดอกเบี้ยประเภทดังกล่าวไว้ที่ระดับ 4.20% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทางการจีนประสบกับความยากลำบากในการรักษาสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพของระบบธนาคารและความพยายามในการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของตลาด