นายเปาโล เจนติโลนี กรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ยุโรปกำลังเผชิญผลกระทบจาก "ภาวะวิฤตซ้อนวิกฤต (double crisis)" แต่เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจยุโรปยังมีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้
นายเจนติโลนีกล่าวว่า "ผมคิดว่าเรากำลังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตซ้อนวิกฤต ซึ่งหมายถึงผลกระทบด้านภูมิรัฐศาสตร์จากการที่รัสเซียรุกรานยูเครนและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตามมาต่อทวีปยุโรป เมื่อมองในด้านภูมิรัฐศาสตร์แล้ว วิกฤตดังกล่าว แน่นอนว่า ส่งผลกระทบถึงสหรัฐและทั่วโลกด้วย แต่จากมุมมองทางเศรษฐกิจนั้น ยุโรปและเยอรมนีได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ"
ทั้งนี้ การที่รัสเซียส่งกำลังทหารรุกรานยูเครนในเดือนก.พ.ปีที่แล้วได้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยุโรปสามารถจัดหาแหล่งพลังงานทางเลือกได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซียเป็นหลัก และรัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปก็สามารถลดภาระให้กับผู้บริโภคที่เผชิญกับต้นทุนพลังงานที่สูงได้
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า เศรษฐกิจในยูโรโซนขยายตัว 3.5% ในปี 2565 และคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2566 จะขยายตัว 0.8% และ 1.4% ในปี 2567
นายเจนติโลนีกล่าวว่า "เศรษฐกิจยูโรโซนทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในปี 2565 โดยมีการขยายตัวมากกว่าทั้งสหรัฐและจีน แม้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมีการชะลอตัวลงบ้างในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 และภาวะชะลอตัวยังคงเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ายูโรโซนจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้"