สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบทางการเงินระดับโลกได้กำหนดแผนงาน เพื่อร่วมดำเนินมาตรการป้องกันไม่ให้สินทรัพย์คริปโทเคอร์เรนซีบ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจมหภาค
"ความเสี่ยงด้านคริปโทฯทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน" หน่วยงานเฝ้าระวังความเสี่ยงของกลุ่ม G20 คณะกรรมการเสถียรภาพการเงิน (FSB) และ IMF ระบุในรายงาน
รายงานระบุว่า ประโยชน์หลายประการที่มีการอ้างว่าจะได้รับจากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การชำระเงินข้ามพรมแดนที่ถูกกว่าและรวดเร็วกว่า และการเข้าถึงทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
"การนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้อย่างแพร่หลายอาจบ่อนทำลายประสิทธิภาพของนโยบายการเงิน กระทบมาตรการที่ใช้ในการจัดการการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพิ่มความเสี่ยงทางการคลัง รวมถึงทำให้เกิดการโยกย้ายทรัพยากรที่มีไว้สำหรับจัดหาเงินทุนให้กับเศรษฐกิจที่แท้จริง และคุกคามเสถียรภาพทางการเงินทั่วโลก"
เอกสารดังกล่าวกำหนดกรอบเวลาสำหรับสมาชิก IMF และ G20 ในการดำเนินการตามคำแนะนำล่าสุดเพื่อควบคุมสกุลเงินดิจิทัลจาก FSB และองค์กรคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (IOSCO) ซึ่งเป็นกลุ่มหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ระดับโลก
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวกับแนวคิดด้านกฎระเบียบ หลังจากคิดว่าภาคส่วนดังกล่าวไม่ค่อยมีความเสี่ยงมาหลายปี โดยมุมมองเปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่เกิดการล่มสลายของเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ในเดือนพ.ย. ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ตลาดสั่นคลอน แต่ทำให้นักลงทุนขาดทุนด้วย