สำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์ของอินโดนีเซีย (BMKG) กล่าวในวันนี้ (8 ก.ย.) ว่า ฤดูฝนในอินโดนีเซียคาดว่าจะเริ่มต้นในเดือนพ.ย. ซึ่งล่าช้ากว่าปกติ 1 เดือน หลังจากเผชิญกับฤดูแล้งที่ยาวนานกว่าปกติ อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
รายงานระบุว่า ฤดูแล้งของอินโดนีเซียคาดว่าจะรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2562 โดยจะแล้งหนักสุดในเดือนก.ย. - ต.ค. ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยว และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า
BMKG คาดการณ์ว่า ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ย. ในพื้นที่มากกว่า 60% ของอินโดนีเซีย รวมถึงจังหวัดส่วนใหญ่บนเกาะชวา และเกาะสุลาเวสี พร้อมเสริมว่า ปริมาณน้ำฝนอาจจะอยู่ในระดับปกติ แต่ภาคเกตรกรรมอาจได้รับผลกระทบ
นางดวีโกริตา การ์นาวาตี หัวหน้า BMKG แถลงต่อสื่อมวลชนว่า "เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นปัญหา เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ต่างกำหนดเวลาการเก็บเกี่ยวไว้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ ฤดูฝนจะมาช้ากว่าปกติ" นอกจากนี้ สภาพอากาศที่ร้อนเป็นระยะเวลานานยังส่งผลให้การเพาะปลูกข้าวหยุดชะงัก และส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นอีกด้วย
ด้านนายซาอิด ซุลกิฟลี ราสยิด ประธานสหกรณ์ผู้ค้าส่งข้าวในตลาดซิปินัง ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย กล่าวว่า ราคาข้าวอาจแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปีที่ระดับ 15,000 รูเปียห์ (0.98 ดอลาร์) ต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ รัฐบาลเปิดเผยว่า จะเปิดตัวโครงการช่วยเหลือทางสังคมมูลค่า 8 ล้านล้านรูเปียห์ (521.51 ล้านดอลลาร์) เพื่อจัดหาข้าวให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยจำนวน 21 ล้านครัวเรือน ตั้งแต่เดือนก.ย. - พ.ย. นี้