จีนและไทยขยายธุรกิจในในเมียนมา แม้ตะวันตกคว่ำบาตร

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 11, 2023 11:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า บริษัทจีนและไทยได้ดำเนินการขยายธุรกิจในเมียนมา ตั้งแต่ด้านโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากจีนและไทยยังคงรักษาความสัมพันธ์กับเมียนมา แม้รัฐบาลทหารเมียนมาจะถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรก็ตาม

นายตาน ส่วย รองนายกรัฐมนตรีเมียนมาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ได้พบกับนายเฉิน ไห่ เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมาเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ณ กรุงเนปิดอว์ โดยนักการทูตทั้งสองได้หารือกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีและเร่งความเร็วในการดำเนินการโครงที่จีนกับเมียนมาทำร่วมกัน

สถาบันเพื่อกลยุทธ์และนโยบายเมียนมาระบุว่า เมียนมามียอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งสิ้น 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างเดือนก.พ. 2564 - มี.ค. 2566 โดยจีน ซึ่งรวมฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วน 55% หรือ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทยูเนียน รีซอร์สเซส แอนด์ เอนจิเนียริง (Union Resources & Engineering) และยูนนาน เอนเนอร์จี อินเวสเมนต์ (Yunnan Energy Investment) ของจีนกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้ามูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในภาคอิรวดีทางภาคใต้ของเมียนมา ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และผลิตไฟฟ้าประมาณ 1.4 กิกะวัตต์ โดยโรงงานแห่งนี้จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2570

ขณะที่ สมาคมผู้ผลิตเครื่องแต่งกายเมียนมาระบุว่า มีโรงงานเสื้อผ้าจีนกว่า 300 แห่งในเมียนมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของโรงงานเสื้อผ้าทั้งหมดในเมียนมา

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชีย บริษัทไทยก็เดินหน้าธุรกิจในเมียนมาเช่นเดียวกัน โดยบริษัทเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (F&N) ซึ่งเป็นบริษัทในสิงคโปร์ของบริษัทไทย เบฟเวอเรจ ระบุในเดือนก.ค.ว่าจะทุ่มเม็ดเงิน 19.2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (14.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการเข้าซื้อใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอร์และสิทธิ์การใช้ที่ดินในเมียนมา โดย F&N จะสร้างโรงเบียร์ด้วยการผนึกกำลังกับบริษัทท้องถิ่น

การใช้จ่ายผู้บริโภคในเมียนมาเริ่มฟื้นตัว โดยร้านอาหารและศูนย์การค้ากลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งตามเมืองใหญ่ ๆ ในช่วง 2 ปีครึ่งหลังกองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเมียนมาที่เผยแพร่โดยเอสแอนด์พี โกลบอลทะลุระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ในเดือนส.ค. โดยตัวเลขเหนือ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมธุรกิจมีการขยายตัว

"บริษัทต่าง ๆ ในไทยกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นในไทย ดังนั้นจึงหันมาสนใจเมียนมาที่มีต้นทุนแรงงานต่ำแทน" นายชินสุเกะ โกโตะ เจ้าของบริษัทให้คำปรึกษาธุรกิจเกี่ยวกับการขยายธุรกิจในเมียนมา กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ