ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เปิดเผยรายงานล่าสุดในวันนี้ (24 ส.ค.) ระบุว่า วิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา ประกอบกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงผลักดันให้ประชาชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเข้าสู่ภาวะยากจนขั้นรุนแรง
เว็บไซต์ของ ADB เผยแพร่รายงาน "Key Indicators for Asia and the Pacific 2023 (ดัชนีชี้วัดสำคัญสำหรับเอเชียและแปซิฟิกปี 2566) โดยระบุว่า ประชากรราว 155.2 ล้านคนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิก หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.9% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในภูมิภาคแห่งนี้ ใช้ชีวิตด้วยความยากจนขั้นรุนแรงในปี 2565 โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 67.8 ล้านคนจากช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดและก่อนเกิดวิกฤตค่าครองชีพเพิ่มขึ้น โดยคำนิยามของความยากจนขั้นรุนแรงขึ้นคือการดำรงชีพด้วยเงินไม่ถึง 2.15 ดอลลาร์/วัน (ประมาณ 75 บาท/วัน)
นายอัลเบิร์ต พาร์ค ผู้อำนวยการ ADB กล่าวว่า "แม้ขณะนี้เอเชียและแปซิฟิกกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่วิกฤตค่าครองชีพที่ทวีความรุนแรงขึ้นนั้น กำลังบั่นทอนความคืบหน้าในการขจัดความยากจน ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเสริมสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้แข็งแกร่งสำหรับคนยากจน และเร่งผลักดันการลงทุนและนวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตและการจ้างงาน และเพื่อให้รัฐบาลในภูมิภาคแห่งนี้สามารถกลับมาบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
รายงานของ ADB ระบุว่า ประชาชนที่ยากจนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตค่าครองชีพ โดยประชาชนเหล่านี้ไม่สามารถซื้อสิ่งของจำเป็นที่มีราคาแพงขึ้นได้ เช่น อาหารและเชื้อเพลิง ขณะเดียวกันการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและบริการขั้นพื้นฐานทำให้ประชาชนที่ยากจนไม่สามารถออมเงิน, จ่ายค่าดูแลสุขภาพ หรือลงทุนในด้านการศึกษา และขาดโอกาสในการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากการได้รับรายได้น้อยกว่าผู้ชาย และบางครั้งก็ทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
ADB คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะยังคงมีความคืบหน้าในการขจัดความยากจน อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปี 2573 ประชากรประมาณ 30.3% ในภูมิภาคแห่งนี้ หรือประมาณ 1.26 พันล้านคน อาจจะอยู่ในกลุ่มที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ โดยจะดำรงชีพด้วยเงินประมาณ 3.65-6.85 ดอลลาร์/วัน (ประมาณ 127-239 บาท/วัน) โดยอิงกับราคาของปี 2560
ในการแก้ไขวิกฤตค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นนั้น ADB แนะนำว่ารัฐบาลในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกสามารถสร้างระบบการป้องกันสังคมให้แข็งแกร่ง, เพิ่มการสนับสนุนการพัฒนาด้านการเกษตร, ปรับปรุงการเข้าถึงบริการด้านการเงินของประชาชน, ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตลอดจนการพัฒนาทุนมนุษย์