ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี โฮลดิงส์ ซึ่งนำโดยนายเฟรเดริก นูแมนน์คาดการณ์ว่า การพุ่งขึ้นของราคาอาหารจะเพิ่มความกังวลให้ธนาคารกลางของหลายประเทศที่กำลังพยายามควบคุมเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของภูมิภาคเอเชียนั้นพุ่งขึ้นรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551
"วิกฤตราคาอาหารที่เกิดขึ้นในเอเชียเมื่อปี 2551 อาจจะกลับมาอีกครั้ง หากมองย้อนไปในเวลานั้นจะพบว่า ราคาข้าวที่พุ่งขึ้นในบางประเทศได้ลุกลามไปยังตลาดอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ผู้บริโภคและรัฐบาลทั่วภูมิภาคเอเชียก็ประสบกับความยากลำบากในการสร้างความมั่นคงของอุปทาน นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของราคาข้าวยังส่งผลให้ราคาอาหารประเภทอื่น ๆ พุ่งขึ้นตามกัน เช่น ข้าวสาลี ในขณะที่ผู้ซื้อต่างก็หันไปหาอาหารทางเลือกอื่น ๆ" ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีระบุ
นายนูแมนน์ระบุว่า "ราคาส่งออกข้าวจากประเทศไทย ซึ่งเป็นราคามาตรฐานโลกนั้น พุ่งขึ้นแตะระดับกว่า 600 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเกือบ 50% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งนั่นเป็นปัญหาสำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบาย เนื่องจากทิศทางราคาข้าวนั้น สวนทางกับราคามะเขือเทศและหัวหอมที่มีแนวโน้มกลับสู่ระดับปกติหลังจากที่พุ่งขึ้นก่อนหน้านี้เนื่องจากมีวงจรการเพาะปลูกสั้น ในขณะที่ราคาข้าวมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอีกเป็นเวลานานขึ้น"
นายนูแมนน์ยังกล่าวด้วยว่า การนำเข้าข้าวทั่วโลกเพื่อการบริโภคพุ่งขึ้นประมาณ 2 เท่าในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นราว 4 จุดเปอร์เซ็นต์ (percentage points) นับตั้งแต่เกิดวิกฤตราคาอาหารในปี 2551 ซึ่งหมายความว่าภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ เป็นวงกว้างกว่าที่เกิดขึ้นในอดีต
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ฝนที่ตกไม่ตรงตามฤดูกาลและภาวะแห้งแล้งในหลายพื้นที่ของโลกกำลังสร้างความเสียหายต่อพืชผล อีกทั้งทำให้อุปทานลดลงและส่งผลให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น โดยเมื่อไม่นานมานี้ อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกได้ออกมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศเพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศ ซึ่งมาตรการดังกล่าวยิ่งส่งผลกระทบต่ออุปทานข้าวในตลาดโลก