สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การผละงานประท้วงของแรงงานบริษัทรถยนต์กว่า 12,000 คนในวันนี้ (15 ก.ย.) อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงหากยังคงยืดเยื้อต่อไป และมีความเสี่ยงที่จะทำให้อัตราการจ้างงานรายเดือนลดลงสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี แต่ไม่มีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในทันทีต่อกิจกรรมทางธุรกิจนั้นจะกระจุกตัวอยู่ในภาคยานยนต์ ซึ่งเพิ่งกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้งในปีนี้ หลังจากที่ประสบปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ติดขัดจากการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตยานยนต์ และในขณะที่สต็อกรถยนต์ของตัวแทนจำหน่ายมีจำกัด ทำให้ยอดขายรถยนต์และรถบรรทุกใหม่ร่วงลง แม้ว่าความต้องการของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่งก็ตาม
หลังจากที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับ 3 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งเมืองดีทรอยต์ ซึ่งประกอบด้วย เจเนอรัล มอเตอร์, ฟอร์ด และสเตลแลนทิส สหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐ (United Auto Workers หรือ UAW) จึงเริ่มหยุดงานประท้วงที่โรงงานประกอบรถยนต์ 3 แห่งในวันนี้ โดยในขณะนี้ การหยุดงานประท้วงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพนักงานรายชั่วโมงราว 12,700 คน
นอกจากนี้ หากการประท้วงขยายวงกว้างขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าจนครอบคลุมสมาชิก UAW ทั้งหมด 146,000 รายในบริษัททั้งสามแห่ง การประท้วงดังกล่าวอาจกลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมยานยนต์ในรอบ 25 ปี นับตั้งแต่พนักงานของเจเนอรัล มอเตอร์ มากกว่า 150,000 คนผละงานประท้วงเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนในปี 2541
นายโจ บรูซซูลาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอาร์เอสเอ็ม (RSM) คาดการณ์ว่า การประท้วงดังกล่าวอาจทำให้ระบบเศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ต่อวัน เนื่องจากเศรษฐกิจดังกล่าวสามารถสร้างสินค้าและบริการได้มากกว่า 26.7 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี หรือมากกว่า 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อวัน
นายบรูซซูลาสระบุว่า RSM คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับผลกระทบโดยตรงจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อปีที่ลดลง 0.2% ในไตรมาสนี้ หากการหยุดงานประท้วงกินเวลายาวนาน 1 เดือน
นายบรูซซูลาสกล่าวว่า "แม้ผลกระทบดังกล่าวจะสูงมากหากพิจารณาในรูปสกุลเงินดอลลาร์ แต่ก็ยังไม่มากพอจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย และในท้ายที่สุดแล้ว ผลกระทบจากการหยุดงานประท้วงจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสมัยก่อน"