สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียรายงานในวันนี้ (15 ก.ย.) ว่า อินโดนีเซียนำเข้าข้าวในปริมาณมากในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียเร่งเติมสต็อกข้าว หลังราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นทั่วโลกจากผลพวงของการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียและปรากฎการณ์เอลนีโญ
ทั้งนี้ นางอมาเลีย อดินิงการ์ วิดยาซานตี รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียระบุว่า อินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ 270 ล้านราย ได้ทำการนำเข้าข้าวจำนวน 1.59 ล้านตันในเดือนม.ค. ? ส.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 237,146 ตันในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นางวิดยาซานตีระบุว่า การนำเข้าข้าวมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากไทยที่ 802,000 ตัน ตามมาด้วยเวียดนามที่ 674,000 ตัน รวมถึงอินเดียที่ 66,000 ตัน และปากีสถานที่ 45,000 ตัน
รัฐบาลอินโดนีเซียสั่งให้บริษัทบูล็อก (Bulog) ซึ่งเป็นผู้จัดซื้ออาหารของภาครัฐ ดำเนินการนำเข้าข้าว 2.3 ล้านตันในปีนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสภาพอากาศที่เกิดจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งทำให้เกิดภัยแล้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของบูล็อกเปิดเผยเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่า ยังไม่ได้ทำสัญญานำเข้าข้าวอีก 453,000 ตัน
"ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ดังนั้นเราจึงต้องการเพิ่มข้าวสำรองทางยุทธศาสตร์ แต่แม้กระทั่งการนำเข้าก็ยังถือเป็นเรื่องยาก" ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซียระบุในวันนี้ (15 ก.ย.) พร้อมกล่าวเสริมว่า อินโดนีเซียประสบปัญหาในการนำเข้าข้าว เนื่องจากบางประเทศออกมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว