นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุที่การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 ณ กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันอังคาร (5 ก.ย.) ว่า เศรษฐกิจโลกมีความทนทานต่อภาวะตื่นตระหนกเชิงลบต่าง ๆ ตั้งแต่โรคระบาด สงคราม เหตุการณ์ด้านสภาพอากาศ ไปจนถึงวิกฤตค่าครองชีพ โดยเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวจากภาวะตื่นตระหนกเหล่านี้ แต่การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้า ๆ และไม่ต่อเนื่อง โดยโลกสูญเสียผลผลิตไปหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด
ทั้งนี้ นางกอร์เกียวาระบุว่า "รอยแผลเป็น" ทางเศรษฐกิจนี้มีขนาดใหญ่และไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ โดยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่นั้นมีเพียงสหรัฐที่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนยังต่ำกว่าศักยภาพประมาณ 2% ขณะที่เศรษฐกิจจีนและตลาดเกิดใหม่กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ยังต่ำกว่าศักยภาพอยู่ประมาณ 5% โดยกลุ่มประเทศรายได้ต่ำได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ
หลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่กว่า 6% ในปี 2564 เศรษฐกิจโลกได้ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากภาวะตื่นตระหนกจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดย IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะอ่อนแอเช่นนี้ต่อไป โดยเติบโตที่ประมาณ 3% ในระยะกลาง ซึ่งเป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ รวมถึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความแตกแยกระหว่างประเทศ
ส่วนในอาเซียน นางกอร์เกียวาระบุว่า เศรษฐกิจอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 4.5% ในปีนี้และปีหน้า ซึ่งถือเป็นข่าวดี โดยอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 10% ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัว ซึ่งสะท้อนถึงผลจากการปฏิรูปในอดีตของเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบาย
อย่างไรก็ตาม อาเซียนกำลังเผชิญกับผลกระทบสำคัญจากภาวะติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ต่างประเทศที่อ่อนแอ ซึ่งเกิดจากผลพวงของภาวะตื่นตระหนกทั่วโลก โดยการเติบโตเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านอยู่ที่ระดับเพียงครึ่งหนึ่งของตัวเลขคาดการณ์ในยุคก่อนเกิดโรคระบาด โดยอาเซียนสูญเสียผลผลิตประมาณ 8% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ดังนั้นเศรษฐกิจอาเซียนจำเป็นต้องเติบโตมากกว่านี้เพื่อที่จะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และสานต่อเส้นทางแห่งความรุ่งโรจน์ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนเกิดโรคระบาด