ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานความคืบหน้าด้านความมั่นคงทางอาหารประจำเดือนก.ค. โดยระบุว่า เงินเฟ้อจากราคาอาหารภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงทั่วโลก โดยข้อมูลเงินเฟ้อจากราคาอาหารระหว่างเดือนก.พ. ? พ.ค. 2566 แสดงให้เห็นว่า เกือบทุกประเทศในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง โดยพบว่าเงินเฟ้อสูงกว่า 5% ใน 61.1% ของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ, 81.4% ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง และ 77% ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง โดยประเทศจำนวนมากเผชิญกับเงินเฟ้อในอัตราเลขหลักสิบ
นอกจากนี้ 80.4% ของกลุ่มประเทศรายได้สูงเผชิญเงินเฟ้อจากราคาอาหารในระดับสูง ขณะที่ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่ในแอฟริกา อเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา เอเชียใต้ ยุโรป และเอเชียกลาง โดยในแง่ที่แท้จริง เงินเฟ้อจากราคาอาหารสูงกว่าเงินเฟ้อโดยรวมใน 83.2% จาก 161 ประเทศที่ธนาคารโลกสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลมาได้
ธนาคารโลกประมาณการว่า ระดับความหิวโหยเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนทั่วโลก โดยการวิเคราะห์ครั้งล่าสุดจากการใช้ข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และแบบจำลองจากการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ความหิวโหยทั่วโลกจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต
รายงานระบุว่า ผลกระทบรุนแรงจากสภาพอากาศสุดขั้วและความขัดแย้ง มีแนวโน้มกดดันให้ประเทศต่าง ๆ จำนวนมากเผชิญวิกฤตการณ์ด้านความหิวโหย โดยในปีนี้ ประชากรโลกมากถึง 1 พันล้านคน หรือ 1 ใน 8 คน เผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงอาหารอย่างรุนแรงจนต้องอดมื้อกินมื้อ
หลังจากสถานการณ์กระเตื้องขึ้นเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ ความหิวโหยทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างหนักในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน โดยมีแนวโน้มว่าตัวเลขของผู้ที่เผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารจะเพิ่มขึ้นกว่า 220 ล้านคนระหว่างปี 2562 ถึงสิ้นปี 2566 โดยหลัก ๆ แล้วเป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะตื่นตระหนกทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ธนาคารโลกระบุว่า ประเทศที่เผชิญเงินเฟ้อจากอาหารรุนแรงที่สุดในเดือนพ.ค. 2566 เมื่อเทียบเป็นรายปีได้แก่ เวเนซุเอลาอยู่ที่ 450% ขณะที่ลาวเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ติด 10 อันดับแรกของประเทศที่เผชิญเงินเฟ้อจากอาหารรุนแรงที่สุด โดยอยู่ที่ 53%
ทั้งนี้ ไทยมีเงินเฟ้อจากอาหารอยู่ที่ระดับ 4.0% ในเดือนพ.ค. 2566 เทียบกับเวียดนามอยู่ที่ 12.9% อินโดนีเซียอยู่ที่ 3.4% และมาเลเซียอยู่ที่ 5.9%
ส่วนสหรัฐอยู่ที่ 6.7% จีนอยู่ที่ 1.1% อังกฤษอยู่ที่ 18.9% รัสเซียอยู่ที่ 0.9% ฟินแลนด์อยู่ที่ 11.1% ญี่ปุ่นอยู่ที่ 9.6% และเกาหลีใต้อยู่ที่ 3.6%
*10 ประเทศที่เผชิญเงินเฟ้อจากอาหารรุนแรงที่สุด (เทียบรายปี)
อันดับ ประเทศ เงินเฟ้อจากราคาอาหาร
1. เวเนซุเอลา 450% 2. เลบานอน 304% 3. อาร์เจนตินา 118% 4. ซิมบับเว 117% 5. อิหร่าน 78% 6. ซูรินาม 71% 7. อียิปต์ 60% 8. ลาว 53% 9. เซียร์ราลีโอน 52% 10. ตุรกี 52%