นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทยมีโอกาสพบปะกับนายอีลอน มัสก์ เจ้าของเทสลาและเอ็กซ์ (X) หรือทวิตเตอร์เดิม และตัวแทนจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ อาทิ กูเกิลและไมโครซอฟท์ ขณะเดียวกันยังได้พบปะหารือกับประธานาธิบดียุน ซอกยอลของเกาหลีใต้ และนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 78 (78th Session of the United Nations General Assembly: UNGA78) ณ นครนิวยอร์กของสหรัฐระหว่างวันที่ 18 -24 ก.ย. 2566
ทั้งนี้ นายเศรษฐาได้โพสต์ข้อความผ่านทางเอ็กซ์ (X) หรือทวิตเตอร์เดิมในวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ว่า ได้มีโอกาสพบปะกับนายอีลอน มัสก์ และคณะทำงานระหว่างเดินทางเข้าร่วมการประชุม UNGA ที่นิวยอร์ก โดยได้หารือกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีของเทสลา สเปซเอ็กซ์ และสตาร์ลิงก์
"ผมประทับใจกับความก้าวหน้าที่คนกลุ่มนี้ได้สร้างไว้ให้กับมนุษยชาติ และเรามีมุมมองเหมือนกันเกี่ยวกับโลกที่สะอาดขึ้นในอนาคต โดยเราตั้งตารอที่จะหารือกันเพิ่มเติม และตั้งตารอความสำเร็จเกี่ยวกับพัฒนาการด้านรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการสำรวจอวกาศ ไม่ใช่เพื่อชาวไทยเท่านั้น แต่ยังเพื่อประชาคมโลกด้วย" นายเศรษฐาระบุ
ต่อมานายเศรษฐาได้โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความผ่านทางเอ็กซ์ (X) ในวันนี้ (22 ก.ย.) ว่า ได้มีโอกาสพบปะกับคณะทำงานของกูเกิล โดยรู้สึกยินดีที่ได้รับทราบว่า กูเกิลได้ทำให้พนักงานในไทยมีศักยภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น และตื่นเต้นเกี่ยวกับข่าวความสำเร็จของแนวคิด Cloud?First ของกูเกิลในหลายประเทศ
"ผมมั่นใจว่าแนวคิดดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเราอย่างยิ่ง โดยผมหวังว่าจะได้สนทนาแบบเจาะลึกที่การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปกในเดือนพ.ย." นายเศรษฐาระบุ
ขณะเดียวกัน นายเศรษฐายังได้พบปะกับตัวแทนจากไมโครซอฟท์และไมโครซอฟท์ไทย โดยได้หารือกันเกี่ยวกับอนาคตของระบบคลาวด์และโอกาสสำหรับประเทศไทย
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุผ่านทางเฟซบุ๊กว่า นายเศรษฐาได้พบหารือกับปธน.ยุนของเกาหลีใต้ในวันพุธที่ 20 ก.ย. เพื่อมุ่งยกระดับความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว
กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่า "นายเศรษฐาได้พบหารือกับนายยุนในห้วงการประชุม UNGA โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อมุ่งยกระดับความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และเห็นพ้องเร่งรัดกระบวนการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) และขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในสาขาที่มีศักยภาพ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า และธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา"
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศของไทยยังระบุด้วยว่า นายเศรษฐาได้พบปะกับนายกุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติในการประชุม UNGA ด้วยเช่นกัน โดยนายเศรษฐาได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับสหประชาชาติในทุกมิติ และข้อริเริ่มในเรื่องต่าง ๆ ของเลขาธิการสหประชาชาติ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเร่งขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งได้แสดงความหวังที่จะเห็นคนไทยดำรงตำแหน่งระดับสูงในสหประชาชาติมากขึ้น
ในโอกาสนี้ เลขาธิการสหประชาชาติยังแสดงความยินดีกับนายเศรษฐาเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมชื่นชมความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสหประชาชาติ และบทบาทที่แข็งขันของไทยในฐานะสถานที่ตั้งของหลายหน่วยงานสหประชาชาติในภูมิภาค