สถาบันเฟรเซอร์ (Fraser Institute) จากแคนาดาเปิดเผยรายงานดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจทั่วโลก (Economic Freedom of the World Index) ประจำปี 2566 โดยระบุว่า ไทยติดอันดับ 64 จากทั้งหมด 165 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ด้วยคะแนน 7.07 คะแนน และติดอันดับ 3 ในอาเซียน ขณะที่สิงคโปร์รั้งอันดับ 1 ด้วยคะแนน 8.56 คะแนน แซงหน้าฮ่องกงที่ร่วงลงเป็นครั้งแรกไปอยู่ที่อันดับ 2 ด้วยคะแนน 8.55 คะแนน ตามมาด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และสหรัฐ ซึ่งอยู่ในอันดับ 3?5 ตามลำดับ
รายงานฉบับดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2564 ระบุว่า ฮ่องกงหลุดจากอันดับ 1 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการทำดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการจำกัดการเข้าเมือง จำกัดการจ้างแรงงานต่างชาติ และเพิ่มต้นทุนการทำธุรกิจ ซึ่งทำให้คะแนนในหัวข้อที่เกี่ยวกับกฎระเบียบของฮ่องกงลดลง 0.25 คะแนน ขณะเดียวกันการที่ทหารเข้าแทรกแซงหลักนิติธรรมและบั่นทอนความเชื่อมั่นในความเป็นอิสระของตุลาการและความเป็นกลางของศาลฮ่องกงทำให้คะแนนในหัวข้อระบบกฎหมายและสิทธิในทรัพย์สินลดลง 0.20 คะแนน
ขณะที่สิงคโปร์ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 โดยได้แรงหนุนจากคะแนนที่เพิ่มสูงขึ้นในหัวข้อรัฐบาลและการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบ โดยคะแนนรวมของสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้น 0.06 คะแนน ทำให้คว้าอันดับแรกไปครอง
เมื่อพิจารณาในอาเซียนแล้วพบว่า สิงคโปร์อยู่ในอันดับ 1 ตามมาด้วยมาเลเซียที่อยู่ในอันดับ 56 ด้วยคะแนน 7.19 คะแนน ต่อด้วยไทยที่อันดับ 64, ฟิลิปปินส์อยู่ที่อันดับ 70 ด้วยคะแนน 7.01 คะแนน, อินโดนีเซียอยู่ที่อันดับ 74 ด้วยคะแนน 6.93 คะแนน, กัมพูชาอยู่ที่อันดับ 78 ด้วยคะแนน 6.82 คะแนน, เวียดนามอยู่ที่อันดับ 106 ด้วยคะแนน 6.26 คะแนน, ลาวอยู่ที่อันดับ 107 ด้วยคะแนน 6.25 คะแนน และเมียนมาอยู่ที่อันดับ 150 ด้วยคะแนน 5.33 คะแนน
ในส่วนของประเทศและดินแดนสำคัญอื่น ๆ นั้น ไต้หวันติดอันดับ 11, ญี่ปุ่นติดอันดับ 20, เยอรมนีติดอันดับ 23, เกาหลีใต้ติดอันดับ 42, ฝรั่งเศสติดอันดับ 47, อิตาลีติดอันดับ 53, เม็กซิโกติดอันดับ 68, อินเดียติดอันดับ 87, บราซิลติดอันดับ 90, รัสเซียติดอันดับ 104 และจีนติดอันดับ 111
ส่วนอันดับรั้งท้ายได้แก่ สาธารณรัฐคองโก แอลจีเรีย อาร์เจนตินา ลิเบีย อิหร่าน เยเมน ซูดาน ซีเรีย ซิมบับเว และเวเนซุเอลา ซึ่งอยู่ที่อันดับ 156? 165