นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่นครนิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ว่า ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังจับตาเงินบาทที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี นายเศรษฐามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทไม่ใช่เรื่องแย่ไปทั้งหมดสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยเงินบาทที่อ่อนค่าอาจจะเป็นปัจจัยหนุนภาคการส่งออกและท่องเที่ยว
นายเศรษฐาซึ่งกำลังอยู่ที่นครนิวยอร์กเพื่อร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ครั้งที่ 78 กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของธปท. พร้อมกับแสดงความเห็นว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงในขณะนี้เป็นผลมาจากกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศไทย อันเนื่องมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (interest rate differential) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงและใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเชิงรุก ซึ่งส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เงินบาทอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 เดือนที่ 36.32 บาทต่อดอลลาร์เมื่อวันพุธ (20 ก.ย.) และนับตั้งแต่ต้นปีนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงไปแล้ว 4.4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์
"การอ่อนค่าของเงินบาทไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป เพราะเมื่อเงินบาทอ่อนค่าจะช่วยหนุนการส่งออก และทำให้ประชาชนจำนวนมากขึ้นอยากจะเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายเงิน ซึ่งนั่นเป็นประโยชน์กับเรา" นายเศรษฐากล่าว
รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนายเศรษฐามีแผนที่จะเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านการเงินใหม่ ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงเนื่องจากผลกระทบของอุปสงค์การส่งออกที่ชะลอตัวและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดน้อยลง
นอกจากนี้ รัฐบาลของนายเศรษฐายังวางแผนที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากขึ้น รวมทั้งการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนและคาซัคสถานเป็นเวลา 5 เดือน โดยจีนถือเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยก่อนโรคโควิด-19 แพร่ระบาด
ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 28 ล้านคนในปีนี้ และ 40 ล้านคนในปีหน้า