นายพีท บูติเจจ รัฐมนตรีกระทรวงการขนส่งของสหรัฐเตือนว่า หากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐถูกปิดการดำเนินงานชั่วคราวหรือชัตดาวน์ ก็จะส่งผลให้การเดินทางทางอากาศต้องหยุดชะงักลง และอาจทำรัฐบาลจำเป็นต้องสั่งให้พนักงานของหอควบคุมการจราจรทางอากาศจำนวน 1,000 คนหยุดภารกิจด้านการฝึกฝนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ประมาณการว่า หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติงบประมาณชั่วคราวให้กับรัฐบาลก่อนวันเสาร์ที่ 30 ก.ย.นี้ FAA ก็จำเป็นต้องสั่งให้พนักงานกว่า 17,000 คนหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และต้องระงับภารกิจการฝึกฝนพนักงานของหอควบคุมการจราจรทางอากาศ
นายบูติเจจกล่าวกับผู้สื่อข่าวในวันพุธ (27 ก.ย.) ว่า "หากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐถูกชัตดาวน์ ผลที่ตามมาคือการขนส่งซึ่งรวมถึงการขนส่งทางอากาศจะหยุดชะงักลง ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่อันตรายมาก"
ขณะที่ทำเนียบขาวเตือนว่า การชัตดาวน์หน่วยงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้า และผู้ที่เดินทางต้องรอคอยเป็นเวลานาน
ทางด้านสมาคมการเดินทางแห่งสหรัฐ (U.S. Travel Association) ระบุว่า "การชัตดาวน์จะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเดินทางของสหรัฐเป็นจำนวนมากถึง 140 ล้านดอลลาร์ต่อวัน และในช่วงที่มีการชัตดาวน์หน่วยงานของรัฐบาลนั้น ระบบการเดินทางทางอากาศจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเที่ยวบินดีเลย์, ผู้โดยสารต่อคิวยาว และขัดขวางความพยายามในการสร้างความทันสมัยให้กับระบบการเดินทางทางอากาศ"
นอกจากนี้ พนักงานของหอควบคุมการจราจรทางอากาศ และสำนักงานความปลอดภัยด้านการขนส่ง (TSA) ก็เป็นสองในหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐที่อาจจะถูกบีบให้ต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
เมื่อครั้งที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐถูกชัตดาวน์เป็นเวลานานถึง 35 วันในปี 2562 พนักงานของหอควบคุมการจราจรทางอากาศ และ TSA ต่างพากันหยุดงาน ส่งผลให้ประชาชนต้องรอคิวที่สนามบินหลายแห่งเป็นเวลานาน และในเวลานั้น FAA จำเป็นต้องชะลอปริมาณการจราจรทางอากาศ ซึ่งสร้างแรงกดดันให้สภาคองเกรสต้องยอมอนุมัติงบประมาณในที่สุด
มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ออกรายงานเตือนในวันจันทร์ (25 ก.ย.) ว่า หากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐถูกชัตดาวน์ ก็จะส่งผลกระทบด้านลบต่อการประเมินความน่าเชื่อถือของสหรัฐ และจะสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของสถาบันและระบบธรรมาภิบาลของสหรัฐ เมื่อเทียบกับรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด
"การชัตดาวน์จะส่งผลกระทบด้านลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ โดยการชัตดาวน์จะสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดที่นำไปสู่การแบ่งขั้วทางการเมืองที่รุนแรงในสหรัฐ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการกำหนดนโยบายด้านการคลัง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานะการคลังของสหรัฐอ่อนแอลง อันเนื่องมาจากการขาดดุลงบประมาณและความสามารถในการชำระหนี้ที่ถดถอยลงอย่างมาก" มูดี้ส์กล่าว โดยขณะนี้มูดี้ส์ให้อันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐที่ระดับ AAA