นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า อุปสงค์ด้านการบริการที่แข็งแกร่งและความคืบหน้าในการปรับลดเงินเฟ้อได้ช่วยเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ แต่ความเสี่ยงด้านการเงินและการคลังยังคงมีอยู่
นางกอร์เกียวากล่าวในวันพฤหัสบดี (5 ต.ค.) ว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2563 นั้น ทำให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 และแนวโน้มการขยายตัวในระยะกลางยังคงอ่อนแอลง
"ปัญหาเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อในขณะนี้ ย่อมหมายความว่าธนาคารกลางจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น นอกจากนี้ การแตกกลุ่ม (fragmentation) ทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบมากที่สุดต่อเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา"
"ที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด และเราได้รับข่าวดีบางอย่างในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 คืออุปสงค์ด้านการบริการที่แข็งแกร่งเกินคาดและความคืบหน้าในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือซอฟต์แลนดิง แต่เราก็ไม่ควรลดความระมัดระวัง เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 3.8% ของช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 และคาดว่าเงินเฟ้อในบางประเทศจะยังคงสูงกว่าเป้าหมายจนถึงปี 2568" นางกอร์เกียวากล่าว
เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา IMF เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) โดยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 สู่ระดับ 3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย.ที่ระดับ 2.8% นอกจากนี้ IMF คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ที่ระดับ 3% ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์เดิม
ขณะเดียวกัน IMF คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 1.8% และ 1% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ และคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะมีการขยายตัว 5.2% ในปีนี้ ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ระดับ 4.5% ในปีหน้า
"เศรษฐกิจโลกยังคงมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ทำให้มีสัญญาณความคืบหน้าในระยะใกล้"
"อย่างไรก็ดี ยังคงมีความท้าทายอีกมากรออยู่ข้างหน้า และขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะเฉลิมฉลอง" นายปิแอร์-โอลิวิเอร์ กูแรงชาส์ หัวหน้านักวิเคราะห์ของ IMF ระบุในรายงานดังกล่าว