สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันนี้ (10 ต.ค.) ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนและยูโรโซน โดยระบุว่า การเติบโตทั่วโลกโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำและไม่สม่ำเสมอ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง
ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) IMF คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่ระดับ 3% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่ปรับลดการคาดการณ์ปี 2567 ลงจากเดิม 3.0% เหลือ 2.9%
นายปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF แถลงต่อสื่อมวลชนว่า เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19, การรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย และวิกฤตพลังงานเมื่อปีที่ผ่านมา แต่แนวโน้มการเติบโตนั้นมีความแตกต่างกันมากในแต่ละประเทศทั่วโลก และแนวโน้มการขยายตัวระยะปานกลางอยู่ในระดับ "ปานกลาง"
นายกูรินชาส์กล่าวว่า การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (ซอฟต์แลนดิ้ง) แต่ IMF กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน ความแตกแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอีกครั้ง
ตัวเลขการเติบโตระยะปานกลาง (Medium-term outlook) นั้นไม่ได้ดีกว่าเดิม IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะโต 3.1% ในปี 2571 ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขเดิมที่ 4.9% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วง 5 ปีก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551-2552
อัตราเงินเฟ้อยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลก เนื่องจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ลดลง ซึ่งคาดว่าจะลดลงแตะระดับค่าเฉลี่ยรายปีที่ 6.9% ในปี 2566 จาก 8.7% ในปี 2565 และเหลือ 5.8% ในปี 2567
IMF ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน กำลังค่อย ๆ ปรับตัวลดลงมากขึ้น และน่าจะลดลงแตะ 6.3% ในปี 2566 จาก 6.4% ในปี 2565 และแตะ 5.3% ในปี 2567 ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังตึงตัวและเงินเฟ้อที่เกิดจากภาคบริการหนืดกว่าที่คาดการณ์ไว้
IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นอีก 0.3 จุดเปอร์เซ็นต์ เป็น 2.1% ในปี 2566 และเพิ่มขึ้น 0.5 จุดเปอร์เซ็นต์ เป็น 1.5% ในปีหน้า โดยอ้างถึงการลงทุนทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้สหรัฐกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียวที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนเกิดโควิด-19
ในทางตรงกันข้าม GDP ของจีนคาดว่าจะขยายตัว 5.0% ในปี 2566 และ 4.2% ในปี 2567 ซึ่งปรับลดจากตัวเลขคาดการณ์เดิมลง 0.2 จุดเปอร์เซ็นต์ และ 0.3 จุดเปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักมาจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของประเทศและอุปสงค์จากภายนอกที่อ่อนแอ
นอกจากนี้ IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนลงเหลือ 0.7% ในปี 2566 และ 1.2% ในปี 2567 ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก.ค.ที่ 0.9% และ 1.5% ตามลำดับ