ปรากฏการณ์เอลนีโญเริ่มก่อให้เกิดกระแสกังวลในเอเชีย และสร้างความกดดันให้กับตลาดข้าวซึ่งกำลังเผชิญกับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นครั้งแรก
ตลาดข้าวได้รับผลกระทบอยู่แล้วเป็นทุนเดิมจากข้อจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ และสภาพอากาศที่แห้งแล้งมากขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังเป็นภัยคุกคามที่จะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น โดยการสูญเสียผลผลิตใด ๆ ก็ตามอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะอุปทานตึงตัวทั่วโลก และอาจเป็นตัวกระตุ้นให้ราคาข้าวพุ่งขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งปรับตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปีเมื่อเร็ว ๆ นี้
บรรดาประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียต่างเตือนภัยปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่กล่าวว่า การผลิตข้าวในประเทศอาจได้รับผลกระทบเล็กน้อย ในขณะที่เวียดนามแจ้งให้เกษตรกรรีบปลูกข้าวให้เร็วกว่าปกติเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนน้ำ ส่วนฟิลิปปินส์กำลังให้ความช่วยเหลือชาวนาในการรับมือกับสภาพอากาศขณะที่เงินเฟ้อจากราคาข้าวพุ่งขึ้น
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ความกังวลเรื่องสภาพอากาศที่แพร่กระจายไปทั่วตลาดข้าวเป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงความกังวลอย่างแท้จริงที่มีต่อผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยเอลนีโญเป็นปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรและอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น พืชผลเสียหาย ผลกระทบต่อระบบส่งไฟฟ้า ผลกระทบต่อการทำประมง และตัดการเข้าถึงเหมืองแร่ เนื่องจากน้ำท่วมทั่วทั้งภูมิภาคในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้
นายมูฮาหมัด ชากีริน มิสปัน รองศาสตราจารย์ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยมาลายากล่าวว่า "พืชผลหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่ต้องพึ่งพาน้ำเป็นอย่างสูง จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ" พร้อมกล่าวเสริมว่า ผลผลิตที่ลดลงจากบรรดาประเทศผู้ผลิตรายหลักจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุปทานข้าวทั่วโลก ซึ่งปัญหานี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบไปทั่วโลกด้วย
ตลาดข้าวเผชิญกับความปั่นป่วนมาหลายสัปดาห์ หลังจากที่อินเดียเพิ่มข้อจำกัดในการส่งออกข้าวเมื่อปลายเดือนก.ค. โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความกังวลแก่รัฐบาลของบรรดาประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและแอฟริกา นำไปสู่การหารือด้านการทูตและข้อตกลงหลายประการเกี่ยวกับอุปทานข้าว นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้มีการเตือนเรื่องการกักตุนข้าว และยิ่งส่งผลให้ราคาข้าวในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียพุ่งสูงขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญจะก่อให้เกิดสภาพอากาศร้อนและแห้งกว่าปกติทั่วในหลายพื้นที่ทั่วเอเชีย และอาจนำไปสู่การเกิดภัยแล้งและไฟป่าได้
อินโดนีเซียได้วางแผนที่จะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นในปีนี้และปีหน้า และกล่าวว่า ผลผลิตข้าวในปี 2566 อาจลดลง 1.2 ล้านตัน ส่วนการผลิตข้าวเปลือกคาดว่าจะอยู่ที่ 54.5 ล้านตัน ซึ่งต่ำกว่าปี 2565 เล็กน้อย
ทางด้านเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกแจ้งแก่เกษตรกรในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงให้เริ่มลูกข้าวตั้งแต่ต้นเดือนนี้ แทนที่จะเป็นเดือนพ.ย. โดยคำสั่งดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำจากปรากฏการณ์เอลนีโญ จนกว่าจะถึงช่วงสิ้นสุดการเก็บเกี่ยว
ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงคิดเป็น 26% ของผลผลิตข้าวของภูมิภาคในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูใบไม้ผลิ