โรงงานใหญ่สุดของฟอร์ดเจอสไตรก์กะทันหัน ปมไม่พอใจเจรจาสัญญาจ้าง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 12, 2023 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐ (UAW) นัดหยุดงานประท้วงที่โรงงานผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลกของฟอร์ด (Ford) โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าในวันพุธ (11 ต.ค) และนับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของสหภาพแรงงานที่หยุดงานประท้วงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 3 แห่งของสหรัฐซึ่งได้แก่ฟอร์ด, เจเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) หรือจีเอ็ม (GM) และสเตลแลนทิส (Stellantis)

สหภาพแรงงาน UAW ระบุว่า สมาชิกสหภาพแรงงาน 8,700 คนซึ่งเป็นพนักงานที่โรงงานผลิตรถกระบะของฟอร์ดในรัฐเคนทักกี ได้นัดหยุดงานประท้วงหลังจากที่สหภาพเปิดเผยว่า ฟอร์ดปฏิเสธที่จะเจรจาต่อรองเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาจ้างงาน

โรงงานที่รัฐเคนทักกีแห่งนี้เป็นโรงงานแห่งสำคัญซึ่งสร้างรายได้ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 6 ของรายได้ด้านยานยนต์ทั่วโลกของฟอร์ด

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางการนัดหยุดงานประท้วงที่โรงงานต่าง ๆ ของฟอร์ด, จีเอ็ม และสเตลแลนทิสซึ่งดำเนินมาเป็นสัปดาห์ที่ 4 และหลังจากมีความคืบหน้าในการเจรจาต่อรองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เจ้าหน้าที่ของฟอร์ดกล่าวว่า ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา นายชอว์น เฟน ประธานสหภาพ UAW แจ้งให้สมาชิกนัดหยุดงานประท้วงในทุก ๆ วันศุกร์ ซึ่งการนัดหยุดงานประท้วงครั้งล่าสุดในวันพุธ (11 ต.ค.) มีขึ้นในขณะที่ตัวแทนของฟอร์ดและสหภาพแรงงาน UAW กำลังเจรจาต่อรองเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของพนักงานหลังจากเกษียณอายุ และวิธีการที่สหภาพแรงงานจะมีส่วนร่วมในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ของฟอร์ดในอนาคต

เจ้าหน้าที่ของฟอร์ดกล่าวอีกว่า นายเฟนและตัวแทนคนอื่น ๆ ของสหภาพ UAW แจ้งขอนัดประชุมกับฟอร์ดในเวลา 17.30 น.ของวันพุธตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเวลา 04.30 น.ของวันพฤหัสบดี (12 ต.ค.) ตามเวลาไทย อย่างไรก็ตาม ฟอร์ดไม่มีข้อเสนอใหม่เพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าจ้างและประเด็นด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นนายเฟนจึงกล่าวว่า "คุณเพิ่งสูญเสียรถกระบะในรัฐเคนทักกี"

ฟอร์ดระบุว่า การนัดหยุดงานประท้วงดังกล่าวนับว่าไร้ซึ่งความรับผิดชอบอย่างร้ายแรง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เมื่อพิจารณาจากกลยุทธ์ของผู้นำสหภาพแรงงานที่ต้องการให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 3 รายได้รับผลกระทบเป็นเวลานานหลายเดือนด้วยการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และสร้างความวุ่นวายต่ออุตสาหกรรม

นายฮาร์ลีย์ ไชเคน นักเศรษฐศาสตร์ด้านแรงงานและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์กล่าวว่า โรงงานที่เคนทักกีเป็นโรงงานที่ทำกำไรได้เป็นอย่างมาก และด้วยความที่มีการนัดหยุดงานประท้วงโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า จึงทำให้เกิดความวุ่นวายมากเป็นพิเศษ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ