นักวิเคราะห์เตือนอินเดีย-อินโดนีเซียเสี่ยงถูกกระทบหนักสุดจากสงครามตอ.กลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 16, 2023 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอินเดียและอินโดนีเซียซึ่งอยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากภาวะไร้เสถียรภาพด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมันที่แพงขึ้น และการแข็งค่าของดอลลาร์

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นักเศรษฐศาสตร์ได้แสดงความกังวลว่าประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียจะเผชิญกับผลกระทบจากสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเสลไตน์ ขณะที่เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของประเทศกลุ่มนี้กำลังประเมินผลกระทบของอุปทานน้ำมันและเศรษฐกิจ

ราคาน้ำมันเบรนท์พุ่งขึ้นเกือบ 20% ในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันเบรนท์อาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 150 ดอลลาร์/บาร์เรล หากสงครามตะวันออกกลางขยายตัวเป็นวงกว้างและมีอิหร่านเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนทั้งอาวุธและเงินให้กับกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่สหรัฐและสหภาพยุโรปขึ้นบัญชีดำในฐานะกลุ่มก่อการร้าย นอกจากนี้ อิหร่านยังให้การสนับสนุนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในเลบานอน

ลาวันญา เวนคาเทสราวัน นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท Oversea-Chinese Banking กล่าวว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส ถือเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน

"หากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเป็นเวลานาน เราก็จะเห็น อินเดีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศเผชิญกับภาวะเปราะบางด้านการค้า นอกจากนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลการค้า จะยิ่งส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากประเทศเหล่านี้มากขึ้นด้วย" เวนคาเทสราวันกล่าว

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 ต.ค.) ราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้น 4.78 ดอลลาร์ หรือ 5.8% ปิดที่ 87.69 ดอลลาร์/บาร์เรล และราคาน้ำมันเบรนท์ทะยานขึ้น 4.89 ดอลลาร์ หรือ 5.7% ปิดที่ 90.89 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า สงครามในตะวันออกกลางอาจขยายวงกว้าง และอาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมัน

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังพุ่งขึ้นหลังจากสหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรครั้งแรกกับเจ้าของเรือที่บรรทุกน้ำมันของรัสเซียที่มีราคาสูงกว่าราคาของกลุ่ม G7 ที่ระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นความพยายามที่จะปิดช่องโหว่ในกลไกที่ออกแบบมาเพื่อลงโทษรัสเซียที่บุกโจมตียูเครน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ