นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเกาหลีใต้จะชะลอตัวลงในไตรมาส 3/2566 เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในขณะที่การส่งออกฟื้นตัวอย่างอ่อนแรง
นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 ของเกาหลีใต้จะขยายตัวเพียง 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งชะลอลงจากไตรมาส 2 ที่มีการขยายตัว 0.6%
ขณะเดียวกันคาดว่า ตัวเลข GDP ตลอดปี 2566 ของเกาหลีใต้จะขยายตัวเพียง 1.2% จากระดับ 2.6% ในปี 2565 และคาดว่า GDP ในปี 2567 จะขยายตัว 2.1%
การคาดการณ์ดังกล่าวได้จากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ในระหว่างวันที่ 18-23 ต.ค.ที่ผ่านมา และมีขึ้นก่อนที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้จะเปิดเผยตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 3 ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ต.ค.นี้
ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยในการประชุม 6 ครั้งติดต่อกัน เนื่องจากเศรษฐกิจเกาหลีใต้ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชียกำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัว อันเป็นผลมาจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ รวมทั้งการส่งออกของเกาหลีใต้ที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย และหนี้สินภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ สงครามที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า ยอดส่งออกของเกาหลีใต้ในปีนี้จะขยับขึ้นเพียง 0.7% ซึ่งชะลอตัวลงอย่างมากจากปีที่แล้วที่ขยายตัว 2.7% และคาดว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชนจะปรับตัวขึ้น 2% ซึ่งชะลอตัวลงจากปีที่แล้วที่มีการขยายตัว 4.1%