ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) เปิดเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 0.7% หลังจากที่มีการขยายตัว 0.1% ในไตรมาส 2 ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์รอดพ้นจากภาวะถดถอยอย่างฉิวเฉียด โดยตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ที่มีการเปิดเผยในวันนี้เป็นการประมาณการครั้งสุดท้าย
MAS ระบุในรายงานทบทวนเศรษฐกิจมหภาครอบครึ่งปีว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์มีแนวโน้มซบเซาในระยะใกล้นี้ เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับความไม่แน่นอน แต่ก็คาดว่า เศรษฐกิจภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก
ทั้งนี้ MAS คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์จะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเป็นวงกว้าง ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับเฉลี่ยที่ 2.5-3.5% ในปี 2567
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core Inflation) ซึ่งไม่นับรวมต้นทุนการเดินทางทางบกและที่พักอาศัยของสิงคโปร์ ชะลอตัวลงสู่ระดับ 3% ในเดือนก.ย. จากระดับสูงสุดในรอบ 14 ปีที่ 5.5% ในเดือนม.ค.
อย่างไรก็ดี MAS กังวลว่า สิงคโปร์ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงทั่วโลกอาจจะทำให้สิงคโปร์เผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
เมื่อวัน 13 ต.ค. คณะกรรมการ MAS มีมติคงนโยบายการเงิน ซึ่งโดยปกติแล้วธนาคารกลางสิงคโปร์จะดำเนินนโยบายการเงินผ่านการกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยนแทนการปรับอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางกำหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยน 3 ด้านด้วยกันซึ่งได้แก่ ความชัน (Slope), ค่ากลาง (Mid-Point) และความกว้าง (Width) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด (Policy Band) หรือที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER)