กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงาน 2023 Article IV Consultation ซึ่งเป็นการหารือกับฝ่ายไทยระหว่างวันที่ 24 ต.ค. ? 7 พ.ย. บนเว็บไซต์เมื่อวันพุธ (8 พ.ย.) โดยได้คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ 2.7% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงกลางเดือนต.ค. แต่สูงกว่าการขยายตัวที่ 2.6% ในปี 2565 เล็กน้อย ในด้านของเงินเฟ้อนั้น IMF คาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของทางการไทย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างสูงเนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงขาลงต่าง ๆ
ขณะเดียวกัน IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.6% ในปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อช่วงกลางเดือนต.ค.ที่ 3.2%
IMF ระบุว่า การกลับมาใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบปกติอย่างต่อเนื่องในระยะใกล้จะช่วยสร้างกันชนทางการคลังขึ้นมาใหม่และรับรองเสถียรภาพทางการเงิน การเพิ่มศักยภาพทางการคลังคุณภาพสูงแบบค่อยเป็นค่อยไปในระยะกลางที่สนับสนุนโดยการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านรายรับและการใช้จ่ายจะช่วยสร้างโอกาสด้านการลงทุนที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการทำให้หนี้สาธารณะลดลงอย่างยั่งยืน
รายงานระบุว่า ความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทยคือโอกาสในการปฏิรูปที่เด็ดขาดและครอบคลุมเพื่อส่งเสริมผลิตภาพ รวมถึงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและครอบคลุม
"เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.6% ในปี 2565 และ 2.2% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2565 การกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบปกติเร็วกว่าที่คาดการณ์ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ความวุ่นวายทางการเงินโลก และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีน ได้ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ไทยจึงคุมเข้มนโยบายการเงินและการคลังแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อสูงให้กับประชาชนควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน"
"เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะฟื้นตัวแบบช้า ๆ ในปี 2566 และเร็วขึ้นในปี 2567 ท่ามกลางภาวะแวดล้อมระดับโลกที่ไม่แน่นอนอย่างสูง โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโต 2.7% ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2565 เนื่องจากการหดตัวด้านการลงทุนและการส่งออกสินค้าจากผลพวงของอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัวลงนั้น มีแนวโน้มจะหักล้างเป็นบางส่วนกับการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้น" IMF ระบุ
"เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะเติบโต 3.6% ในปี 2567 ซึ่งขยับขึ้น 0.4 จุดเปอร์เซ็นต์จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงกลางเดือนต.ค. โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ต่างประเทศที่กระเตื้องขึ้นและการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งแบบต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเฉลี่ยที่ 1.3% ในปี 2566 โดยได้แรงหนุนจากการใช้มาตรการแบบต่อเนื่องเพื่อตรึงราคาพลังงานให้อยู่ในระดับต่ำ และจากห่วงโซ่อุปทานโลกที่กระเตื้องขึ้นเพิ่มเติม โดยเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะเพิ่มเร็วขึ้นเล็กน้อยสู่ 1.6% ในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจในปีนั้นขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น"
"การกลับมาใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบปกติอย่างต่อเนื่องในระยะใกล้จะช่วยสร้างกันชนทางการคลังขึ้นมาใหม่และรับรองเสถียรภาพทางการคลัง โดยความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ภาวะทางการเงินโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นยาวนานขึ้น เศรษฐกิจโลกที่เติบโตลดลง ซึ่งรวมถึงในจีน และความเสี่ยงที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะมีความผันผวนอย่างสูงจากผลพวงของความตึงเครียดในตะวันออกกลางนั้น ได้เพิ่มความสำคัญให้กับการบริหารเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบ"