หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของอินโดนีเซีย (OJK) เปิดเผยว่า อินโดนีเซียจะกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) เรียกเก็บจากกลุ่มธุรกิจการเงินรายย่อย (microfinance) หลังจากมีเสียงร้องเรียนว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไปนั้นส่งผลกระทบต่อผู้กู้ยืม
OJK ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป บริษัทฟินเทคสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดเพียง 0.3% ต่อวันเท่านั้นสำหรับสินเชื่อเพื่อการบริโภค และจะลดลงเหลือ 0.1% ในปี 2569 โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ 0.4% ต่อวัน
"หากเราไม่กำกับดูแลอัตราดอกเบี้ยอย่างเหมาะสม คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือผู้บริโภค" นายอากุสมัน เจ้าหน้าที่ของ OJK ซึ่งทำหน้าที่ดูแลบริษัททางการเงิน แถลงต่อสื่อมวลชน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การปล่อยสินเชื่อของบริษัทฟินเทคเติบโตอย่างมากในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การเติบโตนี้กำลังได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีบริษัทผิดกฎหมายจำนวนมากในตลาด รวมถึงมีรายงานว่าผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินคืนได้
ทั้งนี้ นายอากุสมันเสริมว่า อัตราดอกเบี้ยจะลดลงกว่าเดิม หากการกู้ยืมเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการผลิต ซึ่งจะถูกจำกัดไว้ที่ 0.1% ต่อวัน เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค. 2567 และน้อยกว่านั้นในปี 2569 เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้วัตถุประสงค์ของเงินกู้ส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงจากการอุปโภคบริโภคไปเป็นการกระตุ้นกิจกรรมทางธุรกิจ โดยเฉพาะสำหรับวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง