นักลงทุนในตลาดการเงินจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ย หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณครั้งล่าสุดว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากภารกิจการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น
กระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนต.ค.ในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ย.) โดยดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่วนในวันพุธที่ 15 พ.ย. ทางกระทรวงจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนต.ค. โดยดัชนี PPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต
นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของเดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI เดือนต.ค.จะขยับขึ้น 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนก.ย.ที่ปรับตัวขึ้น 0.4% ส่วนเมื่อเทียบเป็นรายปี คาดว่าดัชนี CPI จะปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนต.ค. ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนก.ย.ที่ปรับตัวขึ้น 3.7%
สำหรับดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับการขยายตัวในเดือนก.ย. ส่วนเมื่อเทียบเป็นรายปี คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 4.1%
นักลงทุนจับตาตัวเลขดัชนี CPI ของสหรัฐอย่างใกล้ชิด หลังจากนายพาวเวล ประธานเฟด กล่าวในงานเสวนา 24th Jacques Polak Annual Research Conference ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พ.ย.ว่า "คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีความมุ่งมั่นในการบรรลุการใช้นโยบายการเงินที่มีความเข้มงวดเพียงพอที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลงสู่ระดับ 2% แต่เรายังไม่มั่นใจว่าเราได้บรรลุจุดยืนดังกล่าว"
"หากเป็นการเหมาะสมที่จะคุมเข้มนโยบายมากขึ้น เราก็จะไม่ลังเลที่จะดำเนินการ แต่เราจะทำด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการคุมเข้มนโยบายการเงินมากไป และความเสี่ยงจากการเข้าใจผิดต่อข้อมูลที่ดีเพียงไม่กี่เดือน" นายพาวเวลกล่าว