"ส่วนที่ยากคือการนำมาใช้งาน หากคุณมี CBDC อยู่ในกระเป๋า คุณควรสามารถใช้จ่ายได้ทุกที่ที่คุณต้องการเช่นเดียวกับเงินสด" นายเวนคาเทสวารันกล่าวนอกรอบงานสิงคโปร์ ฟินเทค เฟสติวัลในวันพุธที่ 15 พ.ย.
"แต่ละประเทศต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างสูงในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน CBDC แต่ทุกวันนี้ธนาคารกลางจำนวนมากมีนวัตกรรมชั้นเลิศเพราะทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทเอกชนเช่นเราเพื่อสร้างระบบนิเวศขึ้นมา" นายเวนคาเทสวารันระบุ
อย่างไรก็ตาม นายเวนคาเทสวารันระบุเสริมว่า ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้เงินสดเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ CBDC
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า Retail CBDC เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีลักษณะคล้ายกับเงินสด โดยธนาคารกลางออกแบบมาให้ใช้ในกลุ่มประชาชนและธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินในชีวิตประจำวัน แตกต่างจาก Wholesale CBDC ที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เฉพาะในกลุ่มธนาคารกลาง ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินเพื่อโอนเงินจำนวนมากระหว่างสถาบันการเงิน
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า CBDC เป็นทางเลือกทดแทนเงินสดที่มีความปลอดภัยและต้นทุนต่ำ โดยประมาณ 60% ของประเทศต่าง ๆ บนโลกกำลังทำการทดสอบด้าน CBDC อย่างไรก็ตาม สภาแอตแลนติก (Atlantic Council) ระบุว่า ณ เดือนมิ.ย. มีเพียง 11 ประเทศที่นำ CBDC มาใช้งาน ขณะที่อีก 53 ประเทศยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาที่ก้าวหน้า และอีก 46 ประเทศกำลังทำการวิจัยในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ มาสเตอร์การ์ดซึ่งเป็นเครือข่ายบัตรรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐระบุในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้เสร็จสิ้นการทดสอบโซลูชันในโครงการนำร่อง e-HKD ของธนาคารกลางฮ่องกงเพื่อจำลองการใช้ Retail CBDC เช่น ดอลลาร์ฮ่องกงอิเล็กทรอนิกส์